เทคโนโลยีค่ายจีนมาแรง EV ยอดทะลุอันดับหนึ่ง

การ์ทเนอร์คาดการณ์ยอดจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ปีนี้ทะลุ 6.3 ล้านคันทั่วโลก เติบโต 34% จากปีก่อนหน้า โดยมีจีนนำโด่งครองสัดส่วนราว 46% หรือ 2.9 ล้านคัน ตามมาด้วยอียูและอเมริกาเหนือ ผลจากนโยบายเอาจริงเรื่องสิ่งแวดล้อมของทางรัฐบาล

โจนาธาน ดาเวนพอร์ท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า จากที่ประชุม COP26 เมื่อเดือน พ.ย.2564 สมาพันธ์ Zero Emission Vehicle Transition Council มีข้อตกลงว่า ภายในปี 2583 ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องเดินหน้าผลิตและจำหน่ายยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ซึ่งนั่นเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเร่งกำลังผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EVs ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได ออกไซด์หรือ CO2 ในภาคการขนส่ง

การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า ยอดจัดส่งรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (แบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด) ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้านคัน คิดเป็นอัตราเติบโต 34.4% จากปี 2564 ที่มียอดจัดส่ง 4.7 ล้านคัน โดยรถยนต์ (Cars) จะมีสัดส่วนจัดส่งสูงครอบคลุม 95% ของตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2565 ส่วนที่เหลือจะแบ่งเป็น รถโดยสาร (Buses) รถตู้ (Vans) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Heavy Trucks)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในแง่ของอัตราเติบโต การ์ทเนอร์พบว่า แม้สัดส่วนการจัดส่งรถยนต์พลังไฟฟ้าประเภทรถตู้ (Vans) และ
รถบรรทุก (Trucks) ยังมีปริมาณไม่มากนัก แต่เป็นตัวเลขที่เติบโตสูงมากจากปีที่ผ่านมาคือ 46% และ 49% ตามลำดับ เนื่องจากเจ้าของกิจการเริ่มเล็งเห็นถึงประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและด้านการเงิน เมื่อเปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า

โดยยอดจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนรวม 6.3 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ 6.02 ล้านคัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 34.6% รถโดยสาร 198,353 คัน เพิ่มขึ้น 19% รถตู้ 126,607 คัน เพิ่มขึ้น 46% รถบรรทุกขนาดใหญ่ 22,663 คัน เพิ่มขึ้น 49%

ประเทศที่มียอดจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้ ได้แก่ 1.จีน ครองสัดส่วนราว 46% หรือ 2.9 ล้านคันของการจัดส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่ประเทศฝั่งยุโรปตะวันตกอยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยยอดการจัดส่งที่ 1.9 ล้านคัน และอันดับสามคือผู้ผลิตจากอเมริกาเหนือ ที่คาดว่าจะมียอดจัดส่งอยู่ราว 855,300 คัน


สาเหตุที่ทำให้จีนและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกกลายเป็น 2 กลุ่มหลักที่มีการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐบาลจีนมีคำสั่งให้ภายในปี 2573 ผู้ผลิตต้องผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสัดส่วน 40% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด รวมทั้งจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำอันดับ 1 ที่มียอดการจัดส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก เช่นเดียวกับแผนของสหภาพยุโรป (EU) ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้รถยนต์ให้ได้ที่ 55% และรถตู้ที่ 50% ภายในปี 2573 ถือเป็นการกระตุ้นตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของทั้ง 2 กลุ่มประเทศ


อย่างไรก็ตาม การใช้ยานยนต์ไฟฟ้ายังมีปัจจัยท้าทายอยู่อีกมาก อาทิ การลดราคารถและแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ การนำเสนอรถในรุ่นที่หลากหลายกว่าเดิม พร้อมยืดระยะการขับให้ได้ระยะไกลขึ้น รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องจุดชาร์จไฟฟ้า โดยการ์ทเนอร์คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านจุด จาก 1.6 ล้านจุดในปี 2564

“จำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วที่บ้านและตามพื้นที่สาธารณะต่างๆที่ยังขาดแคลน เป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งนั่นหมายถึงหน่วยงานผลิตและให้บริการไฟฟ้า จะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าสมาร์ทกริด เพื่อรับมือกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และตอบสนองต่อเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้า จะต้องออกแบบระบบการผลิตไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”.


อ้างอิง : เทคโนโลยีรถ EV ค่ายจีนมาแรง (thairath.co.th)