กพช. เคาะแนวทางบริหารจัดการก๊าซ เตรียมแผนนำเข้า LNG เพิ่มอีก 4.5 ล้านตัน และช่วยลดค่าไฟคนไทย

กพช. เคาะแนวทางบริหารจัดการก๊าซ หวั่นแหล่งเอราวัณกำลังผลิตลดต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เตรียมแผนนำเข้า LNG เพิ่มอีก 4.5 ล้านตัน จากปัจจุบัน ปตท.มีสัญญาระยะยาวแล้ว 5.2 ล้านตัน พร้อมเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 8 อีก 1 ปี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 โดยอาจเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการอื่นใดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้สถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ช่วงเปลี่ยนผ่านมีความต่อเนื่อง ซึ่งตามสัญญา PSC กำหนดไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นหากช่วงรอยต่อกำลังการผลิตต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็จำเป็นต้องมีแนวทางอื่นรองรับ เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 

ทั้งนี้ กพช.มีมติให้นำเข้า LNG ปี 2565 จำนวน 4.5 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวของ ปตท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5.2 ล้านตัน เบื้องต้นจะให้ ปตท.นำเข้า รวมทั้ง Shipper รายใหม่สามารถนำเข้าได้ โดย กพช.ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการอื่นๆ ดังนี้
        1) จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถของแหล่ง รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ทั้งแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย
        2) การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ขนาด 300 เมกะวัตต์ ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมหมดสัญญาวันที่ 31 ธ.ค.2564 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2565        
        3) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิมกลุ่มชีวมวล เพิ่มขึ้นประมาณ 400 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันกลุ่ม SPP ชีวมวลมีกำลังการผลิตรวม 455 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสัญญา Firm อยู่ที่ 20 ราย กำลังการผลิตรวม 150 เมกะวัตต์ และ Non Firm อยู่ที่ 20 ราย กำลังผลิตรวม 305 เมกะวัตต์ สามารถทดแทนนำเข้า LNG ได้ 2 แสนตันต่อปี
       4) เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ในไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับ ปตท. อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดขึ้นอยู่กับ Generation Mix หรือศักยภาพของระบบส่งที่รองรับและความเพียงพอของการจัดหาเชื้อเพลิงตามฤดูกาล
       5) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยเป็นโครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณที่มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าแผนเดิม จากเดิมกำหนด COD กลางปี 2566 ก็อาจเป็นไตรมาส 4/2565 แทน ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ เพื่อทดแทนการนำเข้า LNG Spot โดย กพช. มอบหมายให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ในแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องตามสถานการณ์ ต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay   แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา โดยให้นําเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จํานวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมดไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าเงิน Take or Pay   จํานวน 13,594 ล้านบาท จะช่วยลดค่าไฟประมาณ 22 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากแบ่งเป็น 3 งวด จะส่งผลให้ค่าไฟลดลงจากเดิม 7.18 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย

 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และสามารถนำการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย ในระยะปานกลาง ปี 2565 – 2574 รวมถึงรองรับพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ ที่ประชุม กพช. จึงมีมติเห็นชอบโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดปี 2565 - 2566 50 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลตามแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 - 2574 ต่อไป

 สำหรับมาตรการดูแลราคา LPG ที่ระดับ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565 โดยมองว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึงเวลาที่ราคา LPG จะปรับขึ้น แต่จะเป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบของประชาชน