อุตสาหกรรมยานยนต์ แนะรัฐเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับรถยนต์ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมยานยนต์ แนะรัฐเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับรถยนต์ไฟฟ้า รอลุ้น ครม. พิจารณามาตรการส่งเสริมซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งลดภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต รัฐเงินชดเชยทำโปรโมชัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพิพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประชาชนหันใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ต้องเร่งรัดวางโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จไฟฟ้าให้มีความพร้อม หากชาวบ้านชาร์จไฟฟ้าในหมู่บ้านจำนวนมาก ทำอย่างไรไม่ให้กระแสไฟฟ้าตกในท้ายซอย เมื่อชาร์ไฟรถเต็มที่ จะทำให้ประชาชนสามารถขับรถยนต์ไประยะทางไกลได้ รวมทั้ง แนวทางการส่งเสริมค่ายรถยนต์ เข้ามาลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ การส่งเสริมลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ เพื่อทำให้ราคาถูกลงจาก 3-4 บาทลดเหลือ 2 แสนบาท นับว่าโครงสร้างพื้นฐาน เหล่านี้มีความจำเป็น

เมื่อทุกอย่างพร้อมจะทำให้ยอดใช้รถยนนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ จากปัจจุบันยอดซื้อรถยนต์ในปี 64 จำนวน 2,000 คัน คาดว่าในปี 65 มีจำนวน 4,000-5,000 คัน เมื่อรัฐบาลมีมาตรการออกมาส่งเสริมยังมองว่า ยังเป็นรถยนต์ราคาสูงนับล้านบาท จึงเสนอให้นำรถเก่า เช่น รถเครื่องยนต์ดีเซล นำมาแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพราะนำมาดัดแปลงเพิ่มเติมได้ ยังช่วยลดมลพิษจากรถเก่า และทำให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าถึงมาตรการรัฐได้ด้วย เพราะรถยนต์อายุ 20 ปี 1 ล้านคัน หากนำมาดัดแแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 1 หรือประมาณ 1 แสนคัน นับว่า ช่วยส่งเสริมให้รถยนต์ทั่วไปเข้าถึงมาตรการรัฐได้ด้วย

อีกทั้งในมหกรรมยายนต์ทั้่งที่ผ่านมา ประชาชนร้อยละ 70 ยังเห็นว่า การซื้อรถยนต์ไฮบริด ยังมีความสำคัญกว่า เพราะเติมน้ำมันได้ เพราะเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ยังรองรับไม่ทัน ในขณะที่สหรัฐ ทุ่มเงินลงทุนสร้างสถานีชาร์จทั่วประเทศกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หาก 3 การไฟฟ้า กฟผ. กฟน. กฟภ. เร่งรัดสร้างสถานีชาร์จ ทุกระยะทาง 100 กิโลเมตร ครอบคลุมทุกพื้นที่ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา มาตรการจูงใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ โดยเป็นมาตรการจูงใจระยะยาวประมาณ 4-5 ปี เพื่อให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ประมาณ 300,000 คัน ตั้งแต่ปี 2565 โดยใช้งบกลางอุดหนุนประมาณ 40,000 ล้านบาท ปีแรกจัดสรรเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างยอดจอง 4,000 คัน

มาตรการดังกล่าวจำแนกรถยนต์ไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มรถยนต์อีวี ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้รับการลดภาษีศุลกากรร้อยละ 40 และลดภาษีสรรพสามิตเหลือร้อยละ 2 จากนั้นได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้ค่ายรถยนต์จัดทำโปรโมชั่นสูงสุด 150,000 บาท โดยพิจารณาจากขนาดของแบตเตอรี่ หากต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ได้รับเงินอุดหนุน 70,000 บาท แต่ส่วนใหญ่รถยนต์ไฟฟ้าราคาขายนับล้านบาท 2.รถยนต์ไฟฟ้าราคามากกว่า 2 ล้านบาท ไม่ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ได้รับการลดอัตราภาษีศุลกากรร้อยละ 40 และลดอัตราภาษีสรรพสามิตอีกร้อยละ 2 เพราะรถระดับราคามากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ในกลุ่มราคา คันละ 5-6 ล้านบาท

สำหรับสิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้า เดิมการนำเข้าจากญี่ปุ่น เสียภาษี 20% จากยุโรป 80% และเกาหลีใต้ 40% เมื่อนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจาก ญี่ปุ่น และเกาหลี จะเสียภาษี 0% เพื่อให้สอดคล้องตามข้อตกลงการค้าเสรี ขณะที่ค่ายรถยุโรปปัจจุบันเสียภาษีนำเข้า 80% ลดภาษีเหลือ 40% ภาษีสรรพสามิต ลดจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 เมื่อรวมการลดอากรขาเข้า และลดภาษีสรรพสามิต และมาตรการต่างๆ แล้ว ผู้ซื้ออาจได้รับการลดราคาคันละไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท โดยมาตรการทั้งหมด ต้องรอที่ประชุม ครม.พิจรณาให้ชัดเจน ซึ่งภาคเอกชนต้องการรับรู้ ความชัดเจนของมาตรการ เพื่อวางแผนการผลิต การลงทุน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงและการตัดสินใจจากมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ


อ้างอิง.-  อุตสาหกรรมยานยนต์ แนะรัฐเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับรถยนต์ไฟฟ้า - สำนักข่าวไทย อสมท (mcot.net)