EV โตไม่หยุด ทำยอดขายปี 2564 แซงรถไฮบริด

จากเดิมที่เป็นเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนซึ่งแทบไม่มีคนสนใจ และเกือบจะหมดอนาคตไปแล้ว แต่สุดท้าย รถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ EV กลับมาผงาดอีกครั้ง และกลายเป็นความหวังของมวลมนุษย์ชาติยุคอนาคตในการขับเคลื่อนแบบยั่งยืน ที่สำคัญจากเดิมที่เราคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้าน่าจะบูมและเริ่มได้รับความนิยมอย่างมากโดยพิจารณาจากตัวเลขยอดขายต่อปีภายในช่วง 2568-2573 กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกที่รถยนต์พลังไฟฟ้าสามารถทำยอดขายแซงหน้ารถยนต์ไฮบริด ซึ่งเคยเป็นเทคโนโลยีความหวังที่เริ่มทำตลาดในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2540

ครั้งแรกที่แซงหน้ารถยนต์ไฮบริด

โตโยต้า เปิดตัว Prius รุ่นแรกออกมาในปี 2540 และนั่นทำให้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ลูกผสมแจ้งเกิดและได้รับการตอบรับอย่างมากจากลูกค้าทั่วโลก ขณะที่จีเอ็ม จำเป็นต้องชักปลั๊กรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของตัวเองที่วางขายอย่าง EV1 ในปี 2546ปัจจัยหลักไม่มีอะไรมากนอกจากความไม่พร้อมในหลายๆ ด้านทั้งส่วนของรถยนต์ พฤติกรรมของผู้บริโภค และยังไม่มีบริบทในเชิงวิกฤตที่เข้ามาเป็นตัวเร่งในการเติบโตเหมือนอย่างช่วงปี 2551-2552 ที่โลกเรามีปัญหาเรื่อง Oil Crisis อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 รถยนต์พลังไฟฟ้ากลับมาผงาดอีกครั้ง และสามารถสร้างยอดขายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยตัวเลขซึ่งอยู่ที่ 4.6 ล้านคันจากการเปิดเผยของ Nikkei Asia และเป็นครั้งแรกที่รถยนต์ประเภทนี้สามารถเอาชนะรถยนต์ไฮบริด ซึ่งในปีที่แล้วแม้ว่าจะมีการเติบโตของตลาดในแง่ยอดขาย แต่ทว่าก็ยังไม่มากพอ เพราะมีตัวเลขเพียง 3.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ 35% เท่านั้น ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบเห็นผลอย่างชัดเจน

เมื่อนับรวมรถยนต์ที่อยู่ในขอบเขตของการเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าเข้าไปด้วยอย่าง BEV และ PHEV หรือไฮบริดแบบเสียบปลั๊กชาร์จเข้าไปด้วยแล้ว ในปี 2564 มียอดขายรวมแล้วมากถึง 6.75 ล้านคัน หรือขยายตัวถึง 108% เลยทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563

จากจำนวนยอดขายในปี 2564 เมื่อดูจากสัดส่วนของประเภทรถยนต์แล้ว พบว่ารถยนต์พลังไฟฟ้ามีส่วนแบ่งสูงถึง 71% ของยอดขาย 6.75 ล้านคัน ขณะที่ PHEV อยู่ที่ 28% และอีก 1% เป็นรถยนต์แบบอื่นๆ เช่น FCEV หรือเซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้ไฮโดรเจนในการสร้างกระแสไฟฟ้า

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

จริงอยู่ที่เราได้เห็นบริษัทรถยนต์ประกาศวิสัยทัศน์และนโยบายของพวกเขาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนในอนาคต ซึ่งจะเน้นไปที่รถยนต์พลังไฟฟ้า ซึ่งนั่นก็จริงและควรจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ทว่าสิ่งที่ประกาศออกมายังเป็นแค่คำประกาศ เพราะการปฏิบัติจริงของแต่ละแบรนด์ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่กลางทศวรรษที่ 2563 ดังนั้นเมื่อดูจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากปี 2563 ที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 109% นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก

ในแง่ของการเติบโตก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเพราะปี 2563 ตลาดยังไม่ได้มีตัวเลขที่สูงมากนัก ดังนั้นเมื่อเกิดภาวการณ์เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันในแง่ของดีมานด์ของผู้บริโภคก็เลยทำให้ตัวเลขขยับสูงขึ้นในระดับที่เปลี่ยนแปลงถึง 3 หลักเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นมีอยู่ 2 เรื่อง ซึ่งก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในแง่พฤติกรรมผู้บริโภค และอีกเรื่องคือ ซัพพลาย หรือรุ่นรถยนต์ที่มีอยู่ในตลาด ณ ปัจจุบันมีมากถึงขนาดนั้นเชียวหรือ

ส่วนแรกที่เคยเป็นอุปสรรคในด้านการแจ้งเกิดของเทคโนโลยีใหม่ๆ บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ประกอบกับการมองเห็นทิศทางและสิ่งที่จะต้องเป็นในอนาคตว่าเราจะต้องขับเคลื่อนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้หลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนจากจุดนี้เลย ส่วนอีกประเด็นนั้น เมื่อมองดูในแง่รายละเอียดของยอดขายที่เกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 4.6 ล้านคันต่อปีนั้น ตลาดหลักของรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นประเทศจีน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ของรถยนต์ประเภทนี้ และแบรนด์รถยนต์จีนมีทางเลือกให้กับลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายอย่างมาก

จีนคือตัวผลักดันหลักในด้านยอดขาย

เอาเข้าจริงๆ เมื่อมองดูทางเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในตลาดจากแบรนด์รถยนต์ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก เราแทบจะนับหัวได้เลย ซึ่งถ้าไม่นับเทสล่า แล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบรนด์ระดับหรูอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู, ปอร์เช่ หรือไม่ก็ออดี้ ส่วนที่เหลือที่ว่าแทบจะมีนับรุ่นได้เลย ซึ่งก็รวมถึงนิสสัน ที่เป็นแบรนด์รถยนต์แรกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2552

ดังนั้น ส่วน (ใหญ่) ที่เข้ามาเติมเต็มในด้านยอดขายรถยนต์พลังไฟฟ้าในปี 2564 ก็คือ จีน สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของจีน (The China Association of Automobile Manufacturers) เปิดเผยว่าในปีที่แล้วรถยนต์พลังไฟฟ้าในจีนมียอดขายสูงถึง 2.91 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 63% ของยอดขายจำนวน 4.6 ล้านคันทั่วโลก โดยความสำเร็จในด้านยอดขายครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายในการอุดหนุนของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการให้ส่วนลด บวกกับทางเลือกในประเทศจีนมีหลากหลายมากขึ้นเพราะแบรนด์ในประเทศต่างเร่งในการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ออกมา และเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น Hong Guang Mini EV ที่มีราคาเพียง 4,000 เหรียญสหรัฐ และขายไปได้มากถึง 420,000 คัน

ส่วนญี่ปุ่นนั้น ด้วยเหตุที่นโยบายในเรื่องการสนับสนุนรถยนต์พลังไฟฟ้ายังติดข้อจำกัดในหลายๆ เรื่อง และไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะสามารถมีรถยนต์พลังไฟฟ้าได้ เช่นเดียวกับจำนวนแท่นชาร์จสาธารณะที่ไม่ได้มีเยอะมากเพื่อรองรับกับการเติบโต ตัวเลขยอดขายก็เลยยังไม่มากอยู่ในระดับ 20,000 คันในปี 2564 ขณะที่แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นเอง นอกเหนือจากนิสสันก็เพิ่งจะมีการประกาศนโยบายในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างชัดเจนเมื่อปลายปีที่แล้ว

แน่นอนว่า ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้ายังจะต้องมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องสำหรับปี 2564 รวมถึงปีต่อๆ ไป เพราะนี่คือทิศทางของการขับเคลื่อนแห่งอนาคตของมนุษย์ ขณะเดียวกันหลายแบรนด์ ก็เริ่มมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเป็นทางเลือกในตลาด เพียงแต่คราวนี้จะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนจากปีก่อนหน้า คงต้องดูกันต่อไป

ที่มา : https://mgronline.com/motoring/detail/9650000038854