กกพ.เปิดทางShipperแข่งนำเข้า LNG ปี 65 ปริมาณ 2.7 ล้านตัน ที่ส่งผ่านต้นทุนไปค่าเอฟทีได้

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมออกประกาศ “หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (Energy Pool Price: EPP) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ” เปิด Shipper การแข่งขันนำเข้า LNG เข้าระบบPool ที่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปที่ค่าไฟฟ้าเอฟทีให้ประชาชนช่วยรับภาระแทนได้ หลังจากโควต้าปี2565 ที่เปิดตามนโยบายเสรีก๊าซ ไม่มี Shipper รายใดแจ้งขอนำเข้า เพราะต้องรับความเสี่ยงจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นไว้เอง

ผู้สื่อข่าวศูนย์พลังงาน ( Energy​ News Center- ENC​ )​ รายงานว่า นโยบายเปิดเสรีก๊าซของภาครัฐที่หวังจะให้เอกชนซึ่งได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซ (Shipper)​ จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ ออกนอกระบบPool Gas เพื่อนำเข้าLNGมาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองและแบกรับความเสี่ยงจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงเอง ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยโควต้าที่เปิดให้นำเข้าสำหรับปี 2564 และ2565 ยังไม่มีShipper​รายใดแจ้งขอนำเข้า เนื่องจาก ราคา LNG นำเข้า อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ซื้อจากระบบPool Gas ของปตท. อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามจากภาครัฐที่จะให้ Shipper ดังกล่าวมีการแข่งขันจัดหาLNGเข้าระบบPool Gas ที่สามารถทำให้Shipperมีมาร์จินจากการจัดหาและส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยรับภาระแทนในส่วนของค่าไฟฟ้าส่วนเอฟทีได้


โดย แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมออกประกาศ “หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (Energy Pool Price: EPP) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ” ที่ล่าสุดได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้

โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเปิดทางให้ Shipper รายใหม่ สามารถนำเข้าก๊าซ LNG จากแหล่งใดก็ได้เพื่อมาผลิตไฟฟ้าที่สามารถนำราคา LNG มาหารเฉลี่ยในราคา Pool Gas ให้กลายเป็นราคาเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิง EPP ได้ ซึ่งวิธีการนี้จะส่งผลให้ Shipper เกิดการแข่งขันนำเข้า LNG โดยที่ กกพ.จะเป็นผู้เลือกซื้อ LNG จาก Shipper ที่เสนอราคาต่ำที่สุดก่อนไล่เรียงตามลำดับ


ทั้งนี้ปริมาณที่จะเปิดให้แข่งขันนำเข้าตามประกาศจะเป็นปริมาณตามโควต้าปี65 ภายใต้นโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากสัญญานำเข้า LNG ระยะยาวของปตท. ปริมาณรวม 4.5 ล้านตัน ที่เหลืออยู่ 2.7 ล้านตัน เนื่องจาก ปริมาณ 1.8 ล้านตันแรก นั้นรัฐอนุมัติให้ปตท.เป็นผู้นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณที่ไม่สามารถผลิตก๊าซได้ครบ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาไปแล้ว


โดยแนวทางการเปิดให้ Shipper แข่งขันราคาเพื่อขายเข้าระบบPool นั้น จะเป็นวิธีที่แตกต่างจากการจัดการโควต้าปี64 ที่ไม่มี Shipper รายใดขอนำเข้าเช่นเดียวกัน ซึ่งในช่วงนั้น กกพ.ใช้วิธีแบ่งส่วนให้ปตท.และกฟผ. เป็นผู้นำเข้าและส่งผ่านต้นทุนไปที่ค่าเอฟที

ที่มา : https://www.energynewscenter.com/%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%9e-%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87shipper%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%99%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2-lng/?fbclid=IwAR0P6meR1vDcxn3qcTFg0cJ6yR87Qa-DtLwQqguJ16e2nboauCU4T3oIeKU