ปลื้มยอดจอง รถเมล์ EV ไทยประดิษฐ์ สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น พุ่งสูง 300-400 คัน

ส่องสเปกรถเมล์ EV 2 รุ่นฝีมือคนไทย เก็บตกงานมอเตอร์โชว์ต้นเดือน เม.ย. เผยเร่งผลิตรถบัส 7 เมตร ทยอยส่งมอบหลังยอดจองอื้อ 300-400 คัน ก่อนอวดโฉมรถบัส 12 เมตร รอสัญญาณรัฐไฟขียว พร้อมเดินสายพานผลิตทันที 

วันที่ 15 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ควันหลงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 รูดม่านเก็บฉากลงเป็นที่เรียบร้อยไปตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยทำยอดจองรถยนต์ในงานรวม 31,896 คัน มอเตอร์ไซค์ 2,040 คัน รวมเป็น 33,936 คันเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 13.6%

หนึ่งในไฮไลท์สำคัญในงานนี้ นอกจากการออกจำหน่วยรถยนต์และมอเตอร์ไซด์รุ่นใหม่แล้ว ยังมีการนำเสนอโซนพิเศษในงานคือ  “EV Smart City” เพื่อจัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

โดยผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำต่างนำผลิตภัณฑ์มาโชว์ตัวครบครัน อาทิ BMW, Great Wall Motor, MG, MINI, Mitsubishi Motors, Nissan, Porsche , Volvo และอรุณ พลัส ในเครือ ปตท.ที่พารถยนต์ไฟฟ้าในมือออกงานมอเตอร์โชว์เป็นงานแรกเช่นกัน

นอกจากค่ายรถต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น  ยังมี บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยนำนวัตกรรม การต่อรถเมล์โดยสารฝีมือคนไทยจำนวน 2 รูปแบบ มาจัดแสดงและเปิดจองในงานครั้งนี้ด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” เก็บตกรายละเอียดงานนี้มาให้อ่านกัน

ฟีดแบ็กดี คนสนใจ 30-40 คันในงานมอเตอร์โชว์
นายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมที่บูธมีทั้งแบบบุคคลและองค์กร โดยส่วนมากมาดู เพราะต้องหาซื้อสำหรับใช้รับ-ส่งพนักงานของบริษัท ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาติดต่อและให้ความสนใจประมาณ 30-40 คัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้จอง เพราะยังกังวลกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านโรคโควิด-19 จึงยัง wait & see กันอยู่

สำหรับแบบรถที่เอามาโชว์ในงานครั้งนี้ มี 2 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ รถบัสรุ่น C-BUS ขนาด 7 เมตร และ รถบัส EV ต้นแบบขนาด 12 เมตร ซึ่งได้รับรองขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเรียบร้อยแล้ว

สเปกของรถบัสรุ่น C-BUS ปัจจุบันเพิ่งเปิดสายการผลิตเมื่อต้นปี 2565  โดยกำลังทยอยเคลียร์ยอดจองของรถรุ่นนี้ตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยยอดจองทั้งหมดอยู่ที่ 300-400 คัน ซึ่งทางสกุลฎซีมีศักยภาพในการต่อรถเองทั้งหมด

ข้อมูลเบื้องต้น รถประกอบที่โรงงานของบริษัทที่ จ.สุพรรณบุรี กำลังการผลิต 12 คัน/วัน โครงสร้างเป็นอะลูมิเนียมเกรดพิเศษทั้งหมด คุณสมบัติเบื้องต้น มีดังนี้

- มีความกว้าง 2.1 เมตร ยาว 7.1 เมตร และสูง 2.856 เมตร
- ภายในห้องโดยสารสูง 1.9 เมตร
- รองรับที่นั่งได้ 21 คน (รวมที่นั่งคนขับแล้ว)
- ความยาวช่วงล้อ 3.870 เมตร
- ความกว้างช่วงล้อ หน้า/หลัง  1.655 /1.520 เมตรตามลำดับ
- ระยะยื่นของรถ หน้า/หลัง 1.280/ 1.950 เมตร
- ความเร็วสูงสุดของรถอยู่ที่ 100 กม./ชม.
- ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลัง 100 ลิตร
- ระบบเบรก แบบไฮดรอลิค ประกอบด้วยก้านเบรคแบบตัวนำคู่กระทำทุกล้อ สองวงจรอิสระ หม้อลม สุญญากาศช่วยเบรก
- ระบบป้องกันล้อล๊อค แบบ ABS
- ยางรถที่ใช้ 215/75R17.5R (ยางเรเดียล)
- รถบัสรุ่นนี้มีให้เลือก 2 แบบคือ 1.แบบใช้น้ำมันดีเซล ราคาที่ 2.3 ล้านบาท และ 2. แบบใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ราคาที่ 3.3 ล้านบาท โดยตอนนี้บริษัทร่วมกับ บมจ. ตะวันออกพาณิชย์ ลีสซิ่ง (ECL) ทำแคมเปญผ่อนยาวนาน เริ่มต้นไม่เกิน 26,000 บาทในช่วงแรก และปีท้าย ๆ ในระดับไม่เกิน 18,000 นานสุด 12 ปี

ขณะที่รถบัสต้นแบบขนาด 12 เมตร ผลิตที่โรงงานใน จ.สุพรรณบุรีเช่นกัน กำลังการผลิต 1 คัน/วัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หากมีความต้องการในตลาดก็พร้อมผลิตป้อน และเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกแล้วด้วย

โดยรถบัสขนาด 12 เมตรนี้ มีสเปกดังนี้
- ชานต่ำ กว้าง 2.55 เมตร ยาว 11.85 เมตร สูง 3.15 เมตร
_ จุผู้โดยสารได้ 38 ที่นั่ง, ยืน 40 คน และรองรับรถเข็น 2 คัน หากลดที่สำหรับรถเข็น จะได้ที่ยืนอีก 5 คน
- ความยาวช่วงล้อ 6 เมตร
- รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 12 เมตร
- ล้อ 275 ยาง 80R22.5 (Radial)
- ขับเคลื่อนแบบ Center Drive
- ประเภทมอเตอร์ IM-AC Motor
- กำลังมอเตอร์ต่อเนื่อง 110 kW  สูงสุด 220 kW
- แรงบิดสูงสุด 3,000 Nm
- ความเร็วสูงสุด 100 กม.ชม.

ส่วนคุณสมบัติแบตเตอรี่ที่รองรับ มีสเปกโดยรวม ดังนี้

- ใช้ระบบ Li-ion Battery
- ขนาดของแบตเตอรี่ที่ใช้ 285.7 kWh
- ชาร์จ 1 ครั้ง วิ่งได้สูงสุด 220 กม.
- อัตราสิ้นเปลืองพลังงาน 1.10 kWh/กม.

สำหรับการจัดจำหน่ายขณะนี้ยังไม่มีแผนในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายในปี 2566 แต่ประเมินคร่าว ๆ หากจัดจำหน่ายจริง ๆ รถบัสขนาด 12 เมตรนี้ จะมีราคาอยู่ที่คันละ 7 ล้านบาท นี่คือสเปกและราคาคร่าว ๆ ของรถเมล์ 2 แบบที่ผลิตโดยคนไทยและยืนยันว่าสายพานการผลิตต่าง ๆ พร้อมแล้ว มาตรฐานต่าง ๆ ได้รับการรับรองตามหลักสากล

แต่ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กำลังง่วนกับการเข็นแผนฟื้นฟู ขสมก. จะหันมามองหรือไม่? หรือต้องออกไปขายสร้างชื่อที่ต่างประเทศก่อน ภาครัฐไทยจึงสนใจ ก็ต้องรอดูกัน

ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-906620