ม.รังสิต เดินหน้า 3 โครงการหลัก อนุรักษ์พลังงานต่อเนื่อง

ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transformation) เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปสามารถเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองได้ รวมถึงการรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ที่นำร่องเรื่องการอนุรักษ์พลังมากว่า 6 ปี จนเกิดผลสัมฤทธิ์ คว้า 2 รางวัลการันตีด้านการประหยัดพลังงานในระดับประเทศ พร้อมวางแผนลุยโครงการใหม่ในอนาคต

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม และคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ดูแลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง โครงการด้านอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัยรังสิต 3 โครงการหลัก ดังนี้

1.โครงการเปลี่ยนหลอดไฟ LED

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยเริ่มทยอยเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED ในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ สำนักงาน และหลอดไฟตามทางเดิน (Cover way) จำนวน 4,400 หลอด นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนสวิตช์ไฟในสำนักงานจากแบบสวิตช์รวมเป็นแบบสายกระตุก เดิมทีเวลาเปิดไฟแสงสว่างจะเปิดเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งในบางพื้นที่ไม่มีความจำเป็นทำให้เกิดความสิ้นเปลือง ดังนั้นจึงลดค่าไฟลงได้เมื่อปรับเป็นแบบสวิตช์สายกระตุก โดยดำเนินการในอาคารที่มีพื้นที่กว้าง เช่น สำนักหอสมุด อาคาร 5 และอาคาร 14 ซึ่งเมื่อรวมกับการเปลี่ยนมาใช้หลอด LED มหาวิทยาลัยสามารถประหยัดค่าไฟคิดเป็นมูลค่า 1.3 ล้านบาท/ปี

2. โครงการเปลี่ยนชิลเลอร์และติดตั้งระบบจัดการพลังงาน อาคาร 11

เนื่องจากอาคารต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงระบบจัดการพลังงาน มีอายุเกินกว่า 10 ปี ดังนั้น ประสิทธิภาพของอาคารขนาดใหญ่ เช่น อาคาร 11 เป็นระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ที่ใช้งานมาพร้อมกับตัวอาคารจึงมีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง ทางมหาวิทยาลัยได้ศึกษาเรื่องความคุ้มค่าของการเปลี่ยนชิลเลอร์พร้อมปรับเปลี่ยนระบบจัดการพลังงาน พบว่า ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 12.4 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 5.7 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนแล้วเห็นว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน

นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าร่วมโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานของ และได้รับเงินสนับสนุน 20% ของการลงทุนทั้งหมดจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนมาติดตั้งระบบการจัดการพลังงานระบบปรับอากาศขนาดใหญ่และระบบความเย็นในภาคอุตสาหกรรมธุรกิจ

มหาวิทยาลัยรังสิต จึงนำร่องด้วยการเปลี่ยนชิลเลอร์และติดตั้งระบบจัดการพลังงาน ที่อาคาร 11 ปี พ.ศ. 2561 (แล้วเสร็จ ธ.ค.2561) ผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 - ธ.ค.2564 มหาวิทยาลัยรังสิตสามารถประหยัดค่าไฟได้รวม 8.9 ล้านบาท หรือประมาณ 2.9 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบจัดการพลังงานในอาคาร 1 อาคาร 7 และอาคาร 11 เพื่อเก็บข้อมูลด้านพลังงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561

3.โครงการติดตั้ง Solar Rooftop 1 MW อาคาร 15 และลานจอดรถหลังอาคาร 15

ในด้านการใช้พลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ติดตั้ง Solar Rooftop 1 MW อาคาร 15 และลานจอดรถหลังอาคาร 15 ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ตอนกลางวันลดต้นทุนค่าไฟและช่วยลดภาวะโลกร้อน ในด้านภาพลักษณ์การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา จึงถือเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะแสดงศักยภาพและเป็นต้นแบบในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยภาพรวมได้วางแผนการติดตั้ง Solar Rooftop ไว้ทั้งหมด 3 เฟส

เฟส 1 ติดตั้ง Solar Rooftop 1 MW บนหลังคาอาคาร ดิจิทัลมัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์ (อาคาร 15) และหลังคาลานจอดรถหลังอาคาร 15 ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จและเปิดใช้งานแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2563 ปริมาณไฟฟ้าจากโซล่าเซลที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อยู่ที่ 2,232,549 kWh/ปี ช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 1.4 ล้านบาท/ปี มีการผลิตตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. โดยประมาณ ส่วนรูปแบบของการลงทุน ทางมหาวิทยาลัยมีการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนจากภายนอกมาติดตั้งระบบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วรับซื้อกระแสไฟฟ้าในอัตราที่ถูกกว่าที่ซื้อจากการไฟฟ้า ซึ่งในเฟสที่ 1 จะถูกกว่าการซื้อจากการไฟฟ้าฯ 25.5% หรือถูกกว่าเกือบ 1 บาท/หน่วย โครงการนี้มีระยะเวลาทั้งหมด 15 ปี จากนั้นระบบผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดจะถูกส่งมอบให้เป็นของมหาวิทยาลัย โดยสามารถใช้งานต่ออย่างมีประสิทธิภาพจนครบ 25 ปี

เฟส 2 ติดตั้ง Solar Rooftop 1 MW บนหลังคาอาคารนันทนาการ (อาคาร 14) ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการทดลองระบบ และจะสามารถใช้ได้จริงประมาณเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท/ปี ตลอดระยะเวลา 15 ปี จะระบบทั้งหมดจะเป็นของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกันกับเฟสที่ 1

เฟส 3 ติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารอื่นอีกประมาณ 14 อาคาร ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 1 MW

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลโดยละเอียด ในอนาคตถ้าเปิดใช้ทั้ง 3 เฟสจะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 5 ล้านบาท

ในปัจจุบันหากในสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยเปิดทำการปกติ ค่าไฟฟ้าต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท รวม 120 ล้านบาท/ปี จากโครงการต่างๆ ทั้งหมด รวมกับ Solar Rooftop เฟส2 จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยรังสิต ลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 7 ล้านบาท/ปี

ด้านสิ่งแวดล้อม โซล่าเซลเป็นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ไม่ได้ใช้พลังงานจากฟอสซิล ดังนั้น จึงช่วยลดการเกิดคาร์บอนฯ เฉลี่ย 700 ตันต่อปี เทียบได้กับการปลูกต้นไม้เพิ่ม 37,286 ต้นต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซล่าเซล 1 MW

จากโครงการอนุรักษ์พลังงานที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2017 รางวัลดีเด่นด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ประเภทสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และโล่ประกาศเกียรติคุณงาน Thailand ESCO Fair 2020 จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับโครงการในอนาคต จากการศึกษาและลงทุนเรื่องการประหยัดพลังงานที่กล่าวไปข้างต้น มหาวิทยาลัยรังสิตจึงมีแผนขยายโครงการเปลี่ยนชิลเลอร์และติดตั้งระบบจัดการพลังงาน อาคาร 1 ติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารเรียนอื่นๆ ในเฟส 3 และการส่งเสริมให้มีการใช้รถไฟฟ้า และ car sharing รวมไปถึงระบบรถบริการรับส่งนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย

ที่มา : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000035859