BOI อัดสิทธิประโยชน์เพิ่ม หนุนสตาร์ทอัพ ทำปั๊มชาร์จ EV ได้เว้นภาษี 3-5 ปี

บอร์ด BOI ไฟเขียวอนุมัติปรับปรุงสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนเอกชนทำปั๊มชาร์จรถยนต์ EV ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนาน 3-5 ปี ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ เข้าถึงสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เปิดเผยผลการประชุมบอร์ด BOI ว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติปรับปรุงสิทธิประโยชน์การให้ส่งเสริมลงทุนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนนักลงทุนรายเล็ก และกลุ่มสตาร์ทอัพ ดังนี้

กรณีที่มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย โดยเป็นประเภท QUICK CHARGE ไม่น้อยกว่า 25% ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ส่วนกรณีอื่น ๆ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคล 3 ปี

ยกเลิกเงื่อนไขห้ามรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานอื่น เนื่องจากการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยมาตรการหลายประการควบคู่กัน เพราะปัจจุบันยังมีจำนวนสถานีต่ำกว่าเป้าหมายมาก

ยกเลิกเงื่อนไขการต้องได้รับรองมาตรฐาน ISO 18000 และปรับเงื่อนไขเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


เพิ่มเงื่อนไขให้มีการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน


สำหรับการปรับปรุงประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ หรือ 750,000 คัน (เป็น BEV: Battery Electric Vehicle 375,000 คัน) ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานที่จะเติบโตขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดำเนินการจัดทำแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลาง สำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ

 โดยต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือธุรกิจ Startup สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยการดำเนินงานต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนด


ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/520469