“บขส.” ลุยเช่ารถโดยสารไฟฟ้า 368 คัน เล็งประมูลกลางปีนี้

“บขส.” ลุยจัดหารถโดยสารไฟฟ้า 368 คัน เช่า 7 ปี เร่งคลอดทีโออาร์รถใหญ่ 296 คัน เล็งเปิดประมูลกลางปีนี้ เป้ารับรถใหม่กลางปี 66 นำมาบรรจุใน 52 เส้นทางทดแทนรถเก่า พร้อมเดินหน้ารถมินิบัส 72 คัน วิ่ง 8 เส้นทาง ตั้งธงให้บริการต้นปีหน้า ชี้ช่วยเซฟต้นทุนเชื้อเพลิง 60%

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ได้จัดทำแผนจัดหารถโดยสารพลังงานทางเลือก ขนาดเล็ก และ ขนาดใหญ่ รวมทั้งหมด 368 คัน สัญญาเช่า 7 ปี แบ่งเป็น รถโดยสารขนาดใหญ่ 296 คัน อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) รวมทั้งกำหนดราคากลาง คาดว่าอีก 2 เดือนทีโออาร์แล้วเสร็จจากนั้นเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. ให้พิจารณา ก่อนจะเปิดประมูลช่วงกลางปีต่อไป เมื่อได้ตัวผู้ประกอบการแล้วจะต้องส่งมอบรถเป็นลอตๆ ให้ครบตามกำหนดสัญญา โดยตั้งเป้าว่ากลางปี 2566 จะเห็นรถโดยสารใหม่ทยอยนำเข้ามาให้บริการ
สำหรับรถโดยสารขนาดใหญ่ 296 คัน จะเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (อีวี) ปรับอากาศชั้นเดียวตามมาตรฐานที่ บขส.ให้บริการ ซึ่งจะนำมาทดแทนรถโดยสารที่ให้บริการในปัจจุบันที่มีจำนวน 200 กว่าคัน แบ่งเป็นรถโดยสาร บขส. 151 คัน ที่เหลือเป็นรถเช่าทั้งหมด ขณะนี้รถโดยสารของ บขส. มีอายุการใช้งานนานเกือบ 20 ปี รถเริ่มหมดสภาพในการให้บริการ เบื้องต้นได้ทำแผนจะนำมาวิ่งใน 52 เส้นทาง ได้แก่ ภาคเหนือ 90 คัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก 121 คัน และ ภาคใต้ 85 คัน ซึ่งเป็นพิจารณาเส้นทางที่ผู้โดยสารเดินทางหนาแน่น หรือได้รับความนิยมก่อน เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ภาคอีสาน และ กรุงเทพฯ-แม่สอด เพราะถ้ามีการเดินรถจำนวนมากทำให้ต้นทุนการเดินรถถูกลง

นอกจากนี้จะจัดหารถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) ขนาด 21 ที่นั่ง จำนวน 72 คัน จะนำมาวิ่งให้บริการระยะทางไม่เกิน 300 กม. จำนวน 8 เส้นทาง ได้แก่ สายที่ 793 รังสิต-นครปฐม 4 คัน, สาย 904 หมอชิต-สระบุรี 8 คัน, สาย 313 รังสิต-มหาวิทยาลัยบูรพา 8 คัน, สาย 319 รังสิต-แหลมฉบัง 10 คัน, สาย 316 รังสิต-นิคมฯ บ่อวิน 10 คัน, สาย 792 รังสิต-ลาดหญ้า 10 คัน, สาย 305 รังสิต-มาบตาพุด-ระยอง 10 คัน และ สาย 794 รังสิต-ปราณบุรี 12 คัน อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ และกำหนดราคากลาง คาดว่าทีโออาร์แล้วเสร็จและเริ่มประมูลปลายปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะรับรถและนำมาวิ่งให้บริการต้นปี 2566

นายสัญลักข์ กล่าวอีกว่า การจัดหารถโดยสารไฟฟ้าครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมเรื่องพลังงานไฟฟ้า เพราะนอกจากจะเป็นพลังงานสะอาด ลดมลภาวะทางอากาศ แล้วจะช่วยให้ บขส. ประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ หากเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบันอยู่ที่ราคา 29 บาทต่อลิตร ขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 6 บาท ซึ่งถือว่าการเปลี่ยนเชื้อเพลิงรถโดยสารจะสามารถประหยัดต้นทุนของ บขส.ไปได้ประมาณ 60% จากค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในปี 2564 อยู่ที่ 295.539 ล้านบาท ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ สะดวก และปลอดภัย

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/924107/