กกพ.ช่วยคนไทยลดค่าไฟแพง จ่อเลิกค่าบริการรายเดือน-ทยอยขึ้นเอฟที

กกพ. ชี้พิษน้ำมันแพง-แอลเอ็นจีอ่าวไทยขาดแคลน แจงแนวทางดูแลค่าไฟฟ้าพุ่งช่วยค่าครองชีพคนไทย ปรับใช้ดีเซลผลิตไฟฟ้า ให้ กฟผ.รับภาระค่าเอฟทีทยอยขึ้นต่ำกว่าต้นทุนจริง จ่อเลิกเก็บค่าบริการไฟฟ้ารายเดือน 38.22 บาท ยันทำเต็มที่แต่ไม่ได้ทั้งหมด วอนรัฐ-ปตท.ช่วย หากราคาเชื้อเพลิงพุ่งไม่หยุด

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ว่า กกพ.จะบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างดีที่สุด เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าแพง

นายคมกฤช กล่าวว่า สาเหตุหลักของการปรับเพิ่มขึ้นของ (ค่าเอฟที) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ มาจากปริมาณแอลเอ็นจีต้นทุนต่ำจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าขาดช่วง มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากตลาดจร (สปอต) ซึ่งมีราคาสูงผิดปกติจากความขาดแคลน และถูกซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงเสริมเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ สถานการณ์ค่าไฟฟ้าแพงในปีนี้ที่เพิ่มสูงสุดถึง 4.00 บาทต่อหน่วยในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. นี้ จะแตกต่างจากที่เราเคยประสบปัญหาค่าไฟแพงเมื่อปี 2539 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3.90 บาทต่อหน่วย เพราะรอบนี้เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมด้วยความขาดแคลนน้ำมัน และแอลเอ็นจี ไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก ยังมีปัจจัยภายในประเทศ จากแอลเอ็นจีจากแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทยมีปริมาณลดลงจากเดิมมาก โดยลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 จากกำลังการผลิต 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

การรับมือปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ปลายปี 2564 กกพ.ได้ประสานงานให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล จากเดิมที่ใช้เป็นระบบสำรองเพื่อเป็นระบบหลัก ในขณะที่ปรับเพิ่มโควตานำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นอีก 4.5 ล้านตัน จาก 1.7 ล้านตัน และเริ่มรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งจากเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี เชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ พร้อมเสนอให้ขยายอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงที่ 8 แม่เมาะ เพื่อช่วยเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเสริมไม่ให้ไฟฟ้ามีราคาแพงเกินไป ขณะที่มาตรการสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน


ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่เป็นผลจากการนำเข้าแอลเอ็นจีที่มีราคาแพง โดยมีการใช้แอลเอ็นจี 60% ของเชื้อเพลิงรวมนั้น นายคมกฤช กล่าวว่า เรื่องนี้ระดับนโยบายต้องรีบสร้างความชัดเจน ทั้งความแน่นอนในการวางแผนการจัดหาแอลเอ็นจี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อรองรับ ส่วนแก้ไขปัญหาในระยะยาว อาทิ การเพิ่มสถานีรับ-จ่าย และคลังก๊าซแอลเอ็นจี (แอลเอ็นจี เทอร์มินอล) ให้เพียงพอกับการสำรองแอลเอ็นจีในช่วงที่มีราคาถูก และสร้างความชัดเจนในการเจรจาซื้อ และพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมไทย-กัมพูชา (โอซีเอ)


กกพ. ยังจะทบทวนความเหมาะสมของการเรียกเก็บค่าบริการไฟฟ้าประจำเดือนที่เก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในอัตรา 38.22 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจจะยกเลิกจัดเก็บ หรือลดราคาลงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยซึ่งมีอยู่ 20 ล้านครัวเรือน เนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยเป็นผู้บริโภคหน่วยสุดท้ายที่ไม่สามารถจะขอเครดิตภาษีคืนได้เหมือนกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ รวมทั้ง กกพ.จะมีการประกาศอัตราค่าไฟฟ้าถาวรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) การทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟรายใหญ่ (ทีโอยู) และความเหมาะสมในการเก็บค่าไฟฟ้าจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ดีมานด์ชาร์จ) ทั้งหมดคาดว่าจะมีผลบังคับใช้พร้อมกับการประกาศค่าไฟฐานภายในปี 2565


นายคมกฤช ยังได้กล่าวถึงกรณีที่องค์กรพัฒนาภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) มองว่า ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยล้นระบบ และเป็นเหตุให้ค่าไฟแพงว่า การวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ซึ่งการนับปริมาณ และจำนวนหน่วยกำลังการผลิตไฟฟ้ายังมีความซ้ำซ้อนอยู่ เช่น การคำนวณกำลังการผลิตรวมของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน แทนที่จะคำนวณจากปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงตามฤดูกาล ซึ่งพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัด เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าป้อนระบบได้ นอกจากนี้ ยังมีการคำนวณหน่วยผลิตของโรงไฟฟ้า พลังงานความร้อนร่วม (Combine Cycle) ที่มีการใช้งานอย่างสม่ำ เสมอ นับรวมกับกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (Thermal Cycle) ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ซึ่งไม่ควรนับรวมเป็นกำลังการผลิต

ส่วนกรณีรัฐบาลทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศลาว เป็นการผูกพันการซื้อพลังงานที่มีราคาแพง อยากให้มองผลประโยชน์ระยะยาว เนื่องจากไฟฟ้าพลังน้ำไม่ได้พึ่งพาเชื้อเพลิง ปัจจัยความมั่นคงและความผันผวนของระดับราคาเชื้อเพลิงไม่มีผลต่อไฟฟ้าพลังน้ำ ทำให้ราคาไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ในขณะที่ราคารับซื้อที่ 2.80-2.90 บาทต่อหน่วยไม่แพง และต้องพิจารณาว่าเป็นราคารับซื้อคงที่ตลอดอายุสัญญาอย่างน้อย 20 ปี


ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2356046