รถยนต์ไฟฟ้า ชาร์จแบตฯ เต็ม จ่ายเงินเท่าไหร่ มาดูกัน

ก่อนจะตกลงปลงใจเปลี่ยนจากรถน้ำมันไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็มีคำถามต่างๆ นานามากมาย เช่น ซ่อมแพงมั้ย ลุยน้ำได้หรือเปล่า วิ่งได้ไกลขนาดไหน และที่สำคัญก็คือ ชาร์จแบตฯ เต็มแบบเสียเงินค่าชาร์จต่อครั้งมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต่างๆ เหล่านี้ คือคำถามของคนที่อยากได้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อเอามาแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันท่ามกลางไฟสงครามที่แพงจนสะดุ้ง

เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเต็มถังในรถขนาดเล็ก (ความจุถังเชื้อเพลิง 38-40 ลิตร) กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม ส่วนต่างของค่าไฟกับค่าน้ำมันนั้นชัดเจนมากว่า การชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับรถ EV มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการเติมน้ำมัน (มาก) การชาร์จไฟนั้นถูกแสนถูก เมื่อเทียบกับการเติมเชื้อเพลิงตามสถานีบริการ เมื่อชาร์จไฟเองที่บ้านผ่านอุปกรณ์ Wall Box ที่บริษัทรถแถมมาให้ ค่าชาร์จไฟรถ EV จะอยู่ที่ 0.7-1 บาทต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับการเติมน้ำมันรถทั่วไป ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้า ถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันถึง 3 เท่าตัว ช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันไปได้มากเลยทีเดียว แต่ถ้าไปชาร์จที่ Charging Station ตามสถานที่ต่างๆ จะมีการคิดค่าบริการเพิ่มซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแห่งในการกำหนดราคาค่าชาร์จต่อปริมาณไฟและระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จ

การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge)

เป็นการชาร์จจากเครื่องชาร์จ EV Charger ตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) หรือพวก Wall Box Charge ของแต่ละค่ายที่แถมมาให้ ซึ่งบางเจ้าก็ต้องควักเงินเพิ่มเพื่อซื้อความสะดวกและปลอดภัย เนื่องจากจะต้องมีการเดินสายไฟใหม่ให้กับอุปกรณ์ Wall Box ช่วยให้ชาร์จพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่รถให้เต็มเร็วขึ้น สำหรับระยะเวลาในการชาร์จไฟผ่าน Wall Box Charge อยู่ที่ 6-8 ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดของแบตฯ และการตั้งค่าสำหรับชาร์จ

การชาร์จแบบเร่งด่วน (Quick Charge)

เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ตรงเข้าแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0-80% ในเวลา 40-60 นาที ค้นหาได้ตามสถานีบริการทั้งที่อยู่ใน กทม. และที่อยู่ตามหัวเมืองท่องเที่ยวจังหวัดสำคัญๆ DC Charging สำหรับคนที่ต้องการความเร็วในการชาร์จ ข้อเสียก็คือ แบตเตอรี่จะมีอุณหภูมิระหว่างการชาร์จสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วมากกว่าการชาร์จแบบปกติ

คำนวณค่าไฟในการชาร์จรถไฟเต็ม 1 ครั้ง สำหรับไฟบ้าน

 

รถยนต์ไฟฟ้าชาร์จสูงสุดที่ 7.4 kW แบตเตอรี่ความจุ 60 kW ระยะทางขับขี่ 350 กิโลเมตร ชาร์จไฟ 1 ชั่วโมงด้วยไฟบ้านปกติ เก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 7.4 kW ถ้าชาร์จไฟจนเต็ม 60 kW จะใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง หากรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ มีความจุแบตเตอรี่ 90 kWh

ค่าไฟฟ้าปัจจุบัน หน่วยละ 4.2 บาท 1 หน่วย = 1 kWh คิดค่าไฟฟ้า 1 kWh = 4.2 บาท รถยนต์ไฟฟ้าความจุแบตเตอรี่ 90 kWh เท่ากับค่าไฟ 90 หน่วย ถ้าชาร์จจาก 0-100% 90*4.2 จะเท่ากับ 378 ค่าใช้จ่ายเมื่อชาร์จไฟบ้านจะอยู่ที่ 378 บาท ถ้า ชาร์จแบต 10% แบตฯ 10% = 9 kWh 9kWh = 37.8 บาท (ข้อมูลจาก Auto Spinn)

ค่าใช้จ่ายในเรื่องของพลังงานไฟฟ้า ที่ชาร์จให้กับรถยนต์ไฟฟ้านั้นถูกกว่ารถที่ใช้เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ในขณะที่เบนซินโซฮอล์ 91 อยู่ที่ลิตรละ 38 บาท ยังไงก็แพงกว่าการชาร์จไฟจนเต็มแบตฯ ต่อให้แบตฯ มีขนาดใหญ่ ระยะทำการไกล 550-600 กิโลเมตร ก็ยังถูกกว่าการวิ่งเข้าไปยังสถานีบริการเชื้อแล้วเติมน้ำมันเต็มถังซึ่งจะต้องใช้เงิน 1400-1600 บาท สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แต่ถ้าใช้ไฟบ้านชาร์จรถไฟฟ้านาน 8-9 ชั่วโมง (ในรถไฟฟ้าระยะทำการ 350 กิโลเมตร จะมีค่าใช้จ่ายหรือค่าไฟประมาณ 350-500 บาท) แต่ความสะดวกสบาย ครอบคลุมเส้นทางทั่วประเทศของสถานีบริการเชื้อเพลิง ตลอดจนระยะทางที่สามารถวิ่งไปถึงด้วยน้ำมันหนึ่งถัง ทำให้รถที่ใช้น้ำมันยังคงได้รับความนิยมอยู่พอสมควร ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง หากรถไฟฟ้ามีราคาที่ถูกลง ระยะทำการไกลมากกว่าเดิม และมีสถานีชาร์จครอบคลุมทุกเส้นทาง ประเทศไทยก็น่าจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงระบบขับเคลื่อนจากเชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษไปเป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริงสักที แต่อย่าลืมว่า พลังงานไฟฟ้าที่เราได้มา และนำมาชาร์จให้กับรถยนต์ไฟฟ้านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลภาวะโดยตรงกับสภาพแวดล้อม

 

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/auto/news/2345585