เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ แก้วิกฤตพลังงานในอนาคต

ก็คงวิตกเรื่องราคาน้ำมันกันทั้งประเทศท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มีข่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 จำนวน 3 แปลงในทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและทำให้ประเทศไทยยืนได้ด้วยขาของตัวเอง

สำหรับ 3 แปลงในทะเลอ่าวไทยที่จะเปิดประมูลในรอบนี้ ประกอบด้วย 1) แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 มีพื้นที่รวม 8,487.20 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ Aจำนวน 8,298.49 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ B จำนวน 188.71 ตารางกิโลเมตร2) แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 มีพื้นที่รวม 15,030.14 ตารางกิโลเมตร และ 3) แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G3/65 มีพื้นที่รวม 11,646.67 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น2 พื้นที่ คือ พื้นที่ A จำนวน 11,028.22ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ B จำนวน 618.45 ตารางกิโลเมตร

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านพลังงานของไทยในปัจจุบัน มีความน่าเป็นห่วง เพราะพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบรวมทั้งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (หรือLNG) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ LNG ซึ่งหากเป็นราคาตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวจะอยู่ที่ราว 10 เหรียญต่อล้านบีทียู แต่ถ้าเป็นราคา LNG ในตลาดจร (Spot LNG)ราคาขณะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 35 เหรียญต่อล้านบีทียู
ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงเกินกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล ต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ขณะที่ราคาตลาดจรของก๊าซธรรมชาติเหลว (หรือ spot LNG) ก็ปรับตัวแพงขึ้นอยู่ที่ 35 เหรียญต่อล้านบีทียู ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้า LNG มากกว่า 10 ล้านตัน/ปี ซึ่ง LNG เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยคาดว่าภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีนับจากนี้ ค่าไฟฟ้า (ค่า Ft) จะต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอนจากผลของราคาก๊าซเฉลี่ยโดยรวมที่แพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ซ้ำเติมปัญหาราคาน้ำมันที่แพงที่มีอยู่ในขณะนี้

ดร.คุรุจิต กล่าวด้วยว่า เหตุหนึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับต้นทุนด้านพลังงานที่แพงขึ้น ก็เพราะประเทศไทยไม่ได้มีการเปิดให้เอกชนมาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมค้นหาแหล่งใหม่ๆ มาตั้งแต่ปี 2550 เป็นระยะเวลานานถึง 15 ปี ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยลดน้อยลงอย่างน่าวิตก จากที่ประเทศไทย เคยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้อีก 16-17 ปี แต่มาถึงวันนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้เหลืออีกเพียงไม่ถึง 7 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤต

สำหรับศักยภาพการค้นพบปิโตรเลียมในประเทศไทย ทั้งบนบกและในอ่าวไทย ยังถือว่ามีศักยภาพพอสมควรในการพบและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม อันจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ถึงแม้จะไม่ได้มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่เหมือนประเทศตะวันออกกลางที่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณมากก็ตาม แต่ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องนำเข้าปิโตรเลียมในราคาแพงได้จำนวนหนึ่งรวมทั้งจะมีรายได้ในรูปภาษีและค่าภาคหลวงจากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ต้องเสียเงินตราให้กับต่างประเทศในการนำเข้าพลังงานเหมือนทุกวันนี้

ครับ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเตรียมพร้อมด้านพลังงานให้สมดุลกับอนาคตข้างหน้าเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและทำให้ประเทศไทยยืนได้ด้วยขาของตัวเอง

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/columnist/50838