“พลังงาน”ระดมมาตรการมุ่งเป้าฝ่าวิกฤตราคาพลังงาน เร่งรณรงค์ทุกภาคส่วน“รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงานหาร 2”

วันนี้ (11 มี.ค. 2565) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดแถลงข่าวสรุปสถานการณ์พลังงานและมาตรการรองรับผลกระทบด้านพลังงานว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้นทุกชนิด ส่งผลต่อราคาขายปลีกในประเทศไม่ว่าจะเป็น น้ำมันสำเร็จรูปอย่างเบนซินและดีเซล โดยเฉพาะราคาน้ำมันขึ้นที่สุดในรอบ 14 ปี ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก
กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการพลังงานในช่วงของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านการจัดหาพลังงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมศูนย์กลางสั่งการด้านพลังงานประจำกระทรวงพลังงานเพื่อใช้เป็นศูนย์ติดตามสถานการณ์อีกด้วย โดยเฉพาะการเตรียมการด้านการสำรองพลังงานให้พร้อมรับต่อทุกสถานการณ์
 “กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร กระทรวงพลังงาน ก็จะยังคงติดตามสถานการณ์พร้อม แนวทางแก้ไขปัญหาด้านราคาเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนและให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความตึงเครียดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก จากการคว่ำบาตรธุรกรรมทางการเงิน และบริษัทพลังงานหลายแห่งระงับการลงทุนในรัสเซีย ประกอบกับกลุ่มโอเปกพลัสที่ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน ในแต่ละเดือน ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงตึงเครียดต่อไปอาจทำให้เดือนเมษายนนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซล 150 – 170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน-สหรัฐฯ อาจนำไปสู่กำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน รวมถึงการปล่อยน้ำมันสำรองของ IEA ก็สามารถบรรเทาความตึงตัวของตลาดได้บางส่วน

ขณะที่สถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลกก็ปรับเพิ่มขึ้นทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน โดยราคาอยู่ที่ 968 เหรียญสหรัฐ/ตัน เช่นเดียวกันกับราคาก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะอุปทานจากรัสเซียที่ไม่แน่นอนจากมาตการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และสหภาพยุโรปก็อยู่ระหว่างพิจารณาลดการพึ่งพานำเข้าก๊าซฯ จากรัสเซีย
• วางแนวทางบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคา
 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงานได้วางแนวทางการบริหารจัดการในแต่สถานการณ์ราคา ตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปจนถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงพลังงานจะมีแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุดในแต่ละกรณี
• สำรองน้ำมันเชื้อเพลิงมีเพียงพอนานกว่า 60 วัน
 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มกระจายแหล่งการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางให้มีความหลากหลายตั้งแต่ปี 2557 (จากร้อยละ 70 ลดลงเป็นร้อยละ 57) เพื่อลดความเสี่ยงของการจัดหาน้ำมันดิบ สำหรับสถานการณ์การจัดหาน้ำมันดิบในขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงานได้ประสานงานกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมอย่างใกล้ชิด ทุกรายได้แจ้งยืนยันว่ายังคงสามารถจัดหาน้ำมันดิบได้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2 เดือน สำหรับความต้องการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 123.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 119.88 ล้านลิตร/วัน
ปัจจุบันมีปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือ (รวมที่อยู่ระหว่างการขนส่ง) อยู่ที่ 5,686.44 ล้านลิตร และมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงเหลืออยู่ที่ 1,703.61 ล้านลิตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศได้ถึง 61 วัน นอกจากนี้ บมจ.ปตท. ยังมีมาตรการเตรียมพร้อมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 635.94 ล้านลิตร (4 ล้านบาร์เรล) จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเป็น 66 วัน ส่งผลให้ประเทศมีน้ำมันใช้เพียงพอไม่ขาดแคลน
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนกรณีหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนมีความยืดเยื้อและมีเหตุฉุกเฉินที่ส่งสัญญาณว่าอาจจะกระทบกับแผนการจัดหาน้ำมันดิบของประเทศ กรมธุรกิจพลังงานได้เตรียมมาตรการรองรับเหตุวิกฤต Supply Disruption ตลอดจนได้รับมอบหมายให้ประสานผู้ค้าน้ำมันเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย น้ำมันดิบเป็นร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ จากปัจจุบันอัตราสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 4 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 1 ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรอง
เพิ่มขึ้นอีก 7 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพพลังงานได้โดยไม่กระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน

• เร่งผลักดันแหล่งผลิตปิโตรเลียมในประเทศ
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ หรือ แปลง G1/61 นั้น ปัจจุบันผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) และผู้รับสัญญารายใหม่ (บริษัท ปตท.สผ. อีดี) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในโครงการแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเร่งผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี เข้าดำเนินงานเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าว เพื่อให้ได้ปริมาณตามเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะกำกับ ดูแล ให้การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งจะเริ่มในปลายเดือน เม.ย. 65 เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างราบรื่น
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้มีแนวทางสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และแปลง G2/61 รวมทั้งกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกรายเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เต็มความสามารถ เลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไป ตลอดจนได้เร่งดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่และเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ และนับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนในส่วนของการจัดหาปิโตรเลียมในระยะยาวด้วย
• รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ได้เปิดแคมเปญ “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานทั้งในสังกัดกระทรวงพลังงาน และ กฟน. กฟภ. ร่วมงานจัดนิทรรศการเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องการประหยัดพลังงานสำหรับประชาชนทั่วไป และข้อแนะนำการประหยัดพลังงานทั้งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานเพิ่มความเข้มข้นในการประหยัดพลังงานมากขึ้นจากเดิม 10% เป็น 20%
ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานในระดับธุรกิจ โดยผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรวม 400 ล้านบาท โครงการเงินสนับสนุนเพื่อลดการใช้พลังงานแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการขนส่ง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรวม 600 ล้านบาท