ิแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ในปี 2565

    ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศมีมาตรการเฝ้าระวัง และอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ขณะที่สถานการณ์ด้านพลังงานยังคงมีความผันผวน ซึ่งกระทรวงพลังงานมีนโยบายดูแลราคาพลังงานไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน

    สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในช่วงท้ายสัมปทาน ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (ปัจจุบัน คือ แปลง G1/61) และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (ปัจจุบัน คือ แปลง G2/61) พบว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง  โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณที่มีการเปลี่ยนผ่านจากผู้รับสัมปทานรายเดิมไปสู่ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตรายใหม่ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้

    กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ร่วมมือกับ บมจ. ปตท. ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม โดยมีการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และแปลง G2/61

     อีกทั้ง บมจ. ปตท. อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ขายเพื่อจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแปลง B-17 และแปลง A-18 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย

     นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังได้ประสานกับผู้รับสัมปทานทุกรายให้เตรียมความพร้อมผลิตก๊าซธรรมชาติให้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ

     ในส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เร่งดำเนินการเตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ภายในปี 2565 เพื่อสำรวจหาทรัพยากรปิโตรเลียม และเพื่อเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมของประเทศไทย

     ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติทุกแหล่งอย่างใกล้ชิด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย

ที่มา : https://www.facebook.com/dmffanpage/posts/329823195856319