กกพ. เตรียมแผนปรับสูตรต้นทุนค่า Ft ใหม่

กกพ. เตรียมเสนอที่ประชุม กพช. อนุมัติสับสวิตช์ใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้า แทน LNG  พร้อมเสนอให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการ “ยกเว้น” ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ณ หน้าโรงกลั่นเป็น 0 ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น


นายคมกริช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการเพื่อรองรับสถานการณ์ LNG ปรับสูงขึ้น เพื่อลดบรรเทาผลกระทบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่า Ft

โดยที่ประชุมมีมติให้การขยายโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งขยายการรับซื้อชีวมวลส่วนเกิน และการนำแนวทางในการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาผสมเฉลี่ยต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้หากเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏราคาน้ำมัน “ถูกกว่า” ราคาก๊าซ โดยเตรียมจะเสนอที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ เพราะราคา LNG แพงขึ้นจากปีก่อนถึง 4 เท่า เป็น 40 - 50 เหรียญสหรัฐฯ/ล้าน BTU แพงเกินไป หากตัดลดปริมาณการใช้ก๊าซลงก็ไม่ต้องนำเข้า แล้วหันมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมัน ซึ่งอาจจะต้องแบกรับ หากราคาน้ำมันแพงกว่า GAS pool ในอ่าว ซึ่ง กกพ. เคยให้ความเห็นไปใน กบง. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ไปว่า สามารถใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าในระยะสั้นได้ เพราะว่าช่วยรักษาเรื่องความมั่นคง แต่ถ้าระยะยาว 5-6 เดือนหรือ 1 ปี มันจะเป็นภาระที่มาก็ต้องมาคิดกันใหม่ ปรับว่าตรงไหนที่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตด้วยน้ำมันก็เอามาเฉลี่ยกันด้วย มาหารกันเท่านั้นเอง ถ้า กพช.อนุมัติ สามารถสับสวิตช์ไปใช้น้ำมันได้เลย

อย่างไรก็ตาม กกพ. เสนอให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการ “ยกเว้น” ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ณ หน้าโรงกลั่นเป็น 0 ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยการเว้นภาษีครั้งนี้จะไม่กระทบรายได้ของรัฐ เพราะภาษีประเภทนี้เป็นคนละชนิดกับภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ลดลงไปก่อนหน้านี้ 3 บาท/ลิตร

สำหรับสูตรการคำนวณการใช้น้ำมันแทนก๊าซครั้งนี้จะมีผลต่อการคำนวณค่า Ft ในงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.) 2565 ซึ่งเดิมทีได้มีการรวบรวมข้อมูลมีค่าประเมินที่ทำไว้แล้วจะต้องขึ้นค่า Ft จำนวน 16 สตางค์ 3 ครั้ง แต่ กกพ.คงไม่เปลี่ยนค่าประเมิน เพียงแต่ว่า “ค่าจริงอาจจะลดลงมา ตัวเลขมันอาจจะดีขึ้น” เนื่องจากประเมินบนสมมุติฐานราคาก๊าซธรรมชาติ 18 เหรียญ/ล้าน BTU แต่ตอนนี้ราคา spot ที่ ปตท.ซื้อ พุ่งขึ้นไปถึง 30 เหรียญ/ล้าน BTU แล้ว

 

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ต้นทุนการคำนวณค่าไฟฟ้าแต่ละช่วงจะแตกต่างกัน เช่น กรณีราคาก๊าซ LNG พุ่งเกิน 25 เหรียญ การปรับมาซื้อน้ำมันเตา-น้ำมันดีเซลคุ้มกว่า แต่ปัจจุบันราคาก๊าซ LNG พุ่งขึ้นจาก 10 เหรียญขึ้นไป 40-50 เหรียญ เรียกว่า “แพงมาก” เทียบกับราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจาก 80 เหรียญ ไปเป็น 100-110 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนราคาก๊าซพูลในอ่าวไทยก็ปรับขึ้นอยู่บ้าง แต่ไม่แรงเท่ากับที่นำเข้า อาจปรับแค่ 10%

 

อ้างอิง : https://bit.ly/3vFFLxX