นักวิชาการ แนะแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านการหนุนรถยนต์ไฟฟ้า


     รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวทางการลดฝุ่น PM2.5 มี 7 ด้านสำคัญ ดังนี้
     แนวทางที่ 1 การกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษ ซึ่งคาดว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในปี 2572 มีมูลค่า 8,935 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียลดลง 13,540 ปี ซึ่งสามารถปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องยนต์ยูโร 5 และลดค่าใช้จ่ายในการนำรถมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์  
     แนวทางที่ 2 มาตรการเปลี่ยน หรือปรับปรุงคุณภาพรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานสูง ผู้ออกนโยบายควรคำนึงถึงเรื่องการเพิ่มภาษีและค่าธรรมเนียมในการต่อทะเบียนรถเก่า โดยอาจต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปรับอัตราภาษีแบบก้าวกระโดด โดยระยะแรกกำหนดอัตราภาษีคงที่ให้เท่าเดิมตั้งแต่ปีแรก และยกเลิกการลดอัตราภาษีสำหรับรถที่ใช้งานเกิน 5 ปี ระยะที่ 2 (ระยะ 3-5 ปี) คอยปรับเพิ่มอัตราภาษีรถเก่า โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าและไม่ควรบังคับใช้ย้อนหลัง
    แนวทางที่ 3 การติดตั้งอุปกรณ์กรองเขม่าในเครื่องยนต์ดีเซล โดยผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในปี 2572 มีมูลค่า 6,168 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียลดลง 9,347 ปี โดยแนวปฏิบัติกระบวนการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นเขม่าขนาดเล็ก DPF สนับสนุนการติดตั้ง DPF ในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ผู้ผลิตไม่ได้ออกแบบมากับกลุ่มประเภทรถที่ควบคุมได้ เช่น รถโดยสารหรือรถขนาดใหญ่ เป็นต้น
     แนวทางที่ 4 การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ผลักดันมาตรการด้านภาษีเพื่อเร่งรัดให้เกิดการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm ให้เกิดขึ้นตามแผนที่ตั้งไว้ ในปัจจุบันคุณภาพน้ำมันของประเทศไทยมีมาตรฐานที่ระดับเทียบเท่ากับยูโร 4 ซึ่งมีปริมาณกำมะถันเจือปนไม่เกิน 50 ppm ทั้งนี้ทางกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานผู้ผลิตน้ำมันได้มีการจัดทำข้อตกลง และมีแผนที่จะเปลี่ยนไปสู่การบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm ในวันที่ 1 มกราคม 2567
     แนวทางที่ 5 การกำหนดเขตพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำ โดยมีการศึกษาเพื่อหาความคุ้มค่าของการประกาศใช้นโยบายว่าต้องสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สุขภาพและด้านอื่นๆต่อประชาชนอย่างเพียงพอ รับฟังความเห็นของประชาชน และสร้างความเข้าใจความร่วมมือของภาคประชาชน ผู้ประกอบการขนส่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
     แนวทางที่ 6 การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี 2572 มีผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์มูลค่า 1,911 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียลดลง 2,896 ปี ซึ่งจะมีมาตรการสนับสนุน 2 แนวทางหลัก คือ 1. การลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ และ 2. การตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าบางส่วน
     แนวทางที่ 7 ส่งเสริมการใช้รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า ในปี 2572 มีผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์มูลค่า 306 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียลดลง 463 ปี ควรมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และทุกภาคส่วนต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ด้าน ขสมก. มีแผนที่จะเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า 2,511 คัน พร้อมกับรถที่จ้างของเอกชนอีก 1,500 คัน
     ทั้งนี้ ใน 7 แนวทางดังกล่าว จะเห็นว่าเป็นการนำเสนอเรื่องการลดมลพิษจากควันเสียของรถยนต์เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายสำคัญคือสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยซึ่งตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 จะต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด

อ้างอิง : https://bit.ly/3pRg6Pt