เมื่อ LNG แพง ทำไมค่าไฟต้องแพงตาม?


เขียนเล่าข่าว EP. 4 เมื่อ LNG แพง ทำไมค่าไฟต้องแพงตาม? 

ผู้เขียนตอบข้อซักถาม ทำไม LNG แพงแล้วค่าไฟต้องแพงตาม? คำตอบ คือ เพราะไทยเรานำเข้า LNG จากต่างประเทศมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 
โดย LNG ที่ไทยนำเข้าในปีนี้นั้นมี 2 รูปแบบ ดังนี้
- รูปแบบที่ 1 เป็นสัญญาระยะยาว นำเข้าโดย ปตท. ปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี ตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีสัญญาที่ตกลงราคากันไว้แล้ว และราคาไม่ได้แพงแบบราคา Spot LNG ขณะนี้
- รูปแบบที่ 2 คือ ส่วนที่จะต้องใช้เพิ่มอีก 4.5 ล้านตันต่อปีนั้นยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะเป็นแบบไหน 
โดยเป็นในส่วนที่ ปตท.จะต้องนำเข้ามาเพื่อทดแทนก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยที่ผลิตไม่ต่อเนื่อง ปริมาณ 1.8 ล้านตัน ส่วนอีก 2.7 ล้านตันนั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้นำเข้าตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ ที่ให้สิทธิ์บรรดาผู้จัดหาหรือค้าส่งก๊าซที่ได้รับใบอนุญาต (Shipper) รายใหม่ ได้แจ้งความจำนงเพื่อนำเข้า ในส่วนนี้ถ้าราคานำเข้ายังสูงแบบราคา Spot LNG ในปัจจุบัน ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างแน่นอน
     ที่ผ่านมา Spot LNG นำเข้านั้นจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าไม่มากนัก เพราะเราใช้ในสัดส่วนที่น้อย คือ ประมาณ 5% โดยเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกกว่า LNG นำเข้า  แต่ในปี 2565 นี้ ถือเป็นกรณีพิเศษ โดน 2 เด้ง เพราะต้องใช้ในปริมาณมากขึ้นเพื่อทดแทนแหล่งเอราวัณที่ผลิตไม่ต่อเนื่อง และเจอสถานการณ์ LNG ราคาแพงซ้ำเข้าไปอีก
     อย่างไรก็ตาม ในด้านของกระทรวงพลังงานนั้น ก็พยายามที่จะลดผลกระทบในเรื่องนี้ลง โดยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาได้เห็นชอบแนวทางในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในปี 2565 เพื่อลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่มาจากเรื่อง LNG ราคาแพง โดยตั้งคณะอนุกรรมการที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ขึ้นมาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีประเด็นที่จะต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามมติ กพช. อาทิ การจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพิ่มเติม ให้เต็มความสามารถ  , การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ขนาด 300 เมกะวัตต์ ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าการนำเข้า LNG โดยเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565  , การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายเดิม และ การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทน LNG ราคาแพง เป็นต้น 
แนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงของภาครัฐตามที่เล่ามาทั้งหมด หากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ก็เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าลงได้พอสมควร  

แต่หากดำเนินการผิดไปจากแผน คอลัมน์เขียนเล่าข่าว ขอแนะนำว่า เหลือทางเดียวที่จะช่วยประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้ นั่นก็คือ การใช้ไฟฟ้าให้ประหยัดขึ้นเพื่อลดจำนวนหน่วยการใช้ลงนั่นเอง เพราะอัตราค่าไฟฟ้าบ้านเราเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ใครใช้ไฟจำนวนหน่วยมาก อัตราค่าไฟก็จะยิ่งสูง  ถือว่าเตือนกันไว้ก่อน

อ้างอิง : https://www.energynewscenter.com/%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a7-ep-4-%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad-lng-%e0%b9%81%e0%b8%9e/