กฟผ.เดินหน้าโซลาร์ลอยน้ำ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่ในเขื่อน





กฟผ.เดินหน้าโซลาร์ลอยน้ำ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่ในเขื่อน กางแผน 10 ปี 8 โครงการ กำลังผลิต 1.5 พันเมกะวัตต์ ด้วยงบลงทุนกว่า 5.8 หมื่นล้าน ดันบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ระยะยาว 20 ปี 5,325 เมกะวัตต์ หนุนสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality


แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนย่อย ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำมารวบรวมจัดทำเป็นแผนฯ

 

ทั้งนี้มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 ซึ่งการจัดรับฟังความเห็นและนำมาประกอบเป็นร่างแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ และหลังจากนั้น จะเปิดรับฟังความเห็นหรือ public hearing อีกรอบ ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือนธันวาคม 2565 และจะเริ่มนำมาใช้ได้จริงในปี 2566


ทั้งนี้ การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ฉบับใหม่ ที่อยู่ภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ ที่มุ่งการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือว่ามีส่วนสำคัญ

 

ดังนั้น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ในพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อน โดยจะมีการนำไปบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ราว 5,325 เมกะวัตต์ ในระยะเวลา 20 ปี จากแผนพีดีพีเดิมที่บรรจุอยู่ไว้เพียง 2,725 เมกะวัตต์


อีกทั้ง การบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีดังกล่าว เป็นการสอดรับกับแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 – 2574 ในการวางแผนด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวน (VRE) และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ของประเทศ

 

 “ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการนำร่องโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ด้วยงบลงทุน 842 ล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี”

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการ Solar Floating พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System)  ของกฟผ.ในระยะ 10 ปี (2565-2574) นั้น จะดำเนินงานใน 8 โครงการ รวมกำลังผลิต 1,502 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวมราว 58,680 ล้านบาท

 

ในปีนี้ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ (Hydro-Floating Solar PV Hybrid) ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System) มีกำหนดขายเอกสารประกวดราคา ระหว่างวันที่ 4 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 และเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 9 มีนาคม 2565 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 850 ล้านบาท


ส่วนโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนในระยะต่อไป ประกอบด้วย การก่อสร้างโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้ง BESS ในเขื่อนศรีนครินทร์ ขนาดกำลังผลิต 140 MW เริ่มดำเนินการในปี 2568 ใช้เงินลงทุยราว 5,500 ล้านบาท โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้ง BESS ในเขื่อนภูมิพล  ขนาดกำลังผลิต 158 MW เงินลงทุนราว 6.180 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปี 2568 โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้ง BESS ในเขื่อนวชิราลงกรณ ขนาดกำลังผลิต 50 MW เงินลงทุนร่วม 1,950 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปี 2569

 

โดยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้ง BESS เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนต่อขยาย 1 ขนาดกำลังผลิต 280 MW เงินลงทุนราว 10,950 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2570 โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้ง BESS เขื่อนภูมิพล ส่วนต่อขยาย 1 ขนาดกำลังผลิต 300 MW เงินลงทุนราว 11,750 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2571

 

โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้ง BESS เขื่อนวชิราลงกรณ ส่วนต่อขยาย 1 ขนาดกำลังผลิต 250 MW เงินลงทุนราว 9,750 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2572 โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้ง BESS เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนต่อขยาย 2 ขนาดกำลังผลิต 300 MW เงินลงทุนราว 11,750 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2573 ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 8 โครงการนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 

อ้างอิง หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3758 วันที่  17 – 19 กุมภาพันธ์ 2565