“มข.” ร่วมเอกชน ผลิตวัสดุนาโนจากแกลบ ทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่

“มข.” ร่วมเอกชน ผลิตวัสดุนาโนจากแกลบ ทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่


โครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่จากแกลบ จากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการออกสู่เชิงพาณิชย์  การวิจัยได้ดำเนินการทดสอบการผลิตวัสดุนาโนซิลิกอนจากแกลบสำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าแอโนดในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot scale) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในเชิงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดแถลงข่าว “จากงานวิจัยด้านการผลิตวัสดุนาโนจากแกลบสู่นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่” ภายใต้โครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ชนิดลิเทียมไอออนระดับเซลล์  โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีพร้อมด้วย รศ.ดร.นงลักษณ์  มีทอง หัวหน้าโครงการ นำเสนอการดำเนินงานพร้อมกับส่งมอบผลสัมฤทธิ์จากโครงการวิจัย พร้อมด้วยนายสัจจา เจนธรรมนุกูล ประธานกรรมการ น.ส.กัลยา คล้ายทอง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และนายอัคธัช ชวนะพงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมแถลงสรุปผลการดำเนินงานโครงการ โดยมีสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจร่วมงานจำนวน 50 คน ภายใต้การควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัด ที่ ห้องประชุม 3 อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงโครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนระดับเซลล์ในฐานะผู้ร่วมดำเนินงาน ว่า ทั้ง 3 ฝ่ายซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด มีความตั้งใจจริงและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยได้ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน จัดหาแรงงาน เครื่องมือ เครื่องใช้ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินงานร่วมกันภายในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบหมายให้ รศ. ดร. นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่จากแกลบ โดยผลสัมฤทธิ์จากโครงการที่สำคัญ คือ การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ กระบวนการผลิตและวัสดุนาโนจากแกลบ รวมถึงส่งมอบต้นแบบจำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ วัสดุนาโนซิลิกา วัสดุนาโนซิลิกอน วัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้า และต้นแบบเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ที่จะหารือร่วมกันกับบริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพทโทร อินสตรูเมนท์ จำกัด ถึงแนวทางที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต

Designed by BootstrapMade