"กกพ." เร่งเคาะค่าเช่าคลัง2 นำเข้า "แอลเอ็นจี" ทันเดือน พ.ค.65

“ปตท.-กฟผ.” ลุยสร้างคลังนำเข้าแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 “หนองแฟบ” ด้าน“กกพ.” เร่งเคาะค่าเช่าทันก่อนเปิดบริการพ.ค.2565เร่งบริหารแผนนำเข้าแอลเอ็นจี หลังกพช.ให้ปี 65 นำเข้า 4.5 ล้านตัน ห่วงกระทบค่าไฟฟ้า


นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภาครัฐเล็งเห็นถึงโอกาสในการปรับรูปแบบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหาและจัดส่งก๊าซธรรมชาติของประเทศ จึงได้มอบหมายให้สองรัฐวิสาหกิจหลักของประเทศ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2) หรือ LMPT2 (เทอร์มินอล 2) ต.หนองแฟบ จ.ระยอง

ทั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ตามแนวทางการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย รองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในระยะยาว และเสริมให้ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (LNG Regional Hub) ต่อไป

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับว่าเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่าง 2 รัฐวิสาหกิจหลักของประเทศ ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานที่ได้รับมอบหมายให้ผนึกกำลังร่วมกันดำเนินโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การใช้งานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด

อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล สนับสนุนการยกระดับความรู้ ความสามารถของบุคลากร ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางด้านพลังงาน เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ประเทศ ทั้ง 2 องค์กรได้แสวงหาโอกาสความร่วมมือและการลงทุนร่วมกันในอนาคตอันใกล้ รวมถึงโครงการ LNG Receiving Facilities ภาคใต้ รองรับการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า หลังลงนามทั้ง 2 หน่วยงานได้ดำเนินการสอบทานทางธุรกิจในการประเมินมูลค่าโครงการ ตลอดจนศึกษารายละเอียดต่างๆ และได้ข้อตกลงร่วมกันในประเด็นเงื่อนไขสำคัญ และรายละเอียดเบื้องต้นของการร่วมลงทุนในโครงการฯ โดยได้จัดทำข้อตกลงดังกล่าวในลักษณะบันทึกสาระสำคัญของสัญญาร่วมทุนแล้วเสร็จ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผู้ให้บริการในคลังฯ ส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ตามแนวทางการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติของประเทศ ช่วยพัฒนาตลาดก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยให้มีศักยภาพและมีความมั่นคงต่อไป

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ต้นทุนแอลเอ็นจีและปัญหาก๊าซขาดแคลนก๊าซกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิมจะขึ้นอีก 16 สตางค์ต่อหน่วยทุกรอบในปี 2565 ทุกปีจะพิจารณา 3 รอบ รอบละ 4 เดือน ทั้งนี้ กกพ.ได้พยายามบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด จึงเร่งให้ ปตท.และกฟผ.ใช้เทอร์มินอล 2 ให้เร็วขึ้นจากปลายปี 2565 ที่จำนวน 7.5 ล้านตันต่อปี เป็นเดือนพ.ค.2565 ที่ประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ จากการเร่งเปิดเทอร์มินอล 2 เพื่อรองรับและระบายการใช้งานเทอร์มินอล 1 ด้วย เพราะหากมีการนำเข้าในปริมาณที่เยอะขึ้น จะกระทบต่อคุณภาพของแก๊สด้วยเช่นกัน ดังนั้น กกพ.จึงต้องเร่งพิจารณาอัตราค่าใช้บริการทั้งเทอร์มินอล1 และ 2 อย่างรอบคอบ เพื่อกำกับราคาไม่ให้เกิดต้นทุนเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ประเทศชาติมากที่สุด

“คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้โจทย์กกพ.เพื่อดูในภาพรวมว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ประเทศมากสุด ซึ่งเทอมินอล 2 จะต้องแล้วเสร็จเดือนพ.ค.2565 ตอนนี้จึงต้องเร่งพิจารณาดูว่าควรจะมีอัตราค่าบริการอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งอัตราค่าบริการจะต้องออกมาก่อนเดือนพ.ค.2565”

ทั้งนี้ เมื่อเปิดให้จองเทอมินอล1 และ 2 พบว่ามีการแห่จองแต่เทอร์มินอล 1 เพราะมีออปชั่นที่ดีกว่า สามารถนำก๊าซลงได้ทั้งทางท่อ ทางรถ และทางเรือ ผู้ใช้ต่างอยากใช้เพราะประหยัดต้นทุนมีทางเลือกมากกว่า ส่วนเทอร์มินอล 2 จะนำส่งแก๊ซลงท่อได้อย่างเดียว ดังนั้น กกพ.จะต้องจัดสรรว่าถ้ารายที่นำเข้ามาแล้วไม่ได้นำไปขาย ก็ไม่จำเป็นจะต้องลงรถหรือเรือ แล้วจะจองเทอร์มินอล 1 ทำไม

“สำหรับราคาก็อาจจะแตกต่างกัน ซึ่งเทอร์มินอลต่างๆ ถ้าปล่อยเสรีเต็มที่ก็จะไม่ดี คนจะแห่ไปจองอันที่ดีกว่า จึงต้องมาบริหารจัดการกันว่าเทอร์มินอลที่มีอยู่จะมีวิธีใช้และจัดสรรอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศให้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้เทอร์มินอลที่เกิดก่อนกดราคา ดังนั้น ในเรื่องของราคาจะต้องมาหารืออีกครั้งว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ถือเป็นโจทย์ที่ยากมาก”

อ้างอิง : กรุงเทพธุรกิจ https://bit.ly/3HX5K7m