• หน้าหลัก
  • รู้จักเรา
  • ERC Focus
  • Energy Trends
  • เชื้อเพลิงความรู้
  • ช่องทางติดต่อ

เชื้อเพลิงน่ารู้

  1. หน้าแรก
  2. เชื้อเพลิงน่ารู้

จากมาตรการ CDM ถึง BCA เพื่อลดโลกร้อน แต่เพิ่มอุปสรรคให้การค้าระหว่างประเทศ (ตอนจบ)

  • 29 ก.ค. 2564
  • 2854 view


โดย  วีระพล จิรประดิษฐกุล 


      ในบทความฉบับที่แล้ว ผมพูดถึงเรื่องการพัฒนาการของ “กลไกการพัฒนาที่สะอาด :CDM” ไปสู่ “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน Border Carbon Adjustment : BCA” จากความวิตกกังวลของชาติมหาอำนาจเรื่องภาวะโลกร้อนในอดีต นำไปสู่ต้นทุน และกลายเป็นพันธนาการให้กับตัวเองในที่สุด ตอนนี้มาดูกันว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และประเทศผู้นำเหล่านี้จะผ่องถ่ายภาระมาสู่ประเทศกำลังพัฒนาให้ร่วมรับผิดชอบอย่างไร และประเทศไทยเราได้รับผลกระทบ และเตรียมรับมือกับพันธการใหม่แล้วหรือไม่อย่างไร
       สำหรับการประเทศไทยได้มีการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการศึกษา  “โครงการศึกษาการประเมินผลกระทบจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Border Carbon Adjustment) และการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศ” ในช่วงปี 2553-2554 โดยมี รศ.ดร.ชยันต์  ตันติวัสดาการ นักวิชการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ผลการศึกษาพบว่าสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการนี้ กลับส่งออกได้ลดลงแทบทุกสาขานั่นแสดงว่าความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐอเมริกาลดลง สาเหตุสำคัญมาจากเป็นเพราะว่า มาตรการ BCA ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้ารวมผลของภาษีมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบภายในประเทศปรับเพิ่มตามไปด้วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น และกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของสหรัฐอเมริกาในที่สุด สำหรับประเทศไทย สาขาการผลิตที่จะส่งออกลดลงมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ก๊าซ เหล็ก และเหล็กกล้า ด้านสาขาที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาโลหะอื่นๆ ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โลหะ และอุปกรณ์ ส่วนผลกระทบของประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่แข่งกับไทยนั้นมีทิศทางคล้ายกัน แต่กรณีของโลหะอื่นๆซึ่งเป็นสาขาที่ถูกเก็บภาษีสูงสุดนั้น จะช่วยให้ไทยได้ส่งออกสูงขึ้น ในขณะที่คู่แข่งของไทยโดยเฉพาะ จีน อินเดีย และมาเลเซีย จะมียอดส่งออกลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศเหล่านี้ถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าไทย
 ผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาพรวม พบว่ามาตรการ BCA ส่งผลต่อการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมากคือ ร้อยละ 0.01 ของปริมาณการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนมีมาตรการ ในทางตรงข้ามทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นด้วย ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ในด้านการรับภาระเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดได้แก่ ประเทศจีน (ลดลง 1.46 ล้านตัน) รัสเซีย (ลดลง 0.89 ล้านตัน) และอินเดีย (ลดลง 0.41 ล้านตัน) สำหรับประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 0.45 ล้านตัน จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กรณีที่ไม่มีมาตรการ BCA 
 ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศEU ก็ได้พิจารณาออกมาตรการ BCA เช่นกัน โดย คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Consultation) เกี่ยวกับแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 28 ตุลาคม 2563 โดยมี 3 แนวทางในการเปิดรับฟังความคิดเห็นได้แก่ (1) การประเมินความเป็นไปได้ทางกฎหมาย และเทคนิคตามมาตรการ BCA หรือการขยายขอบเขต European Union Emission Trading Scheme : EU ETSมาใช้กับสินค้านำเข้า (2) การประเมินผลปริมาณ และราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า และ (3) กลุ่มสินค้า และอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงของการรั่วไหลของคาร์บอนสูงสุด ทั้งนี้มีแผนงานที่จะออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการBCAภายในปี 2564 และจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2566 
       ในปัจจุบันกลุ่มประเทศEU ได้ใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ระบบ European Union Emission Trading Scheme (EU ETS) ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเป็นกลไกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดการปัญหาการั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) จากภาคอุตสาหกรรม จากประเทศสมาชิก EU โดยมีการกำหนดเพดานการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากประเทศสมาชิก หรือบริษัทแต่ละราย สำหรับรายที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเกณฑ์สามารนำส่วนต่างไปขายให้แก่รายอื่นที่ต้องการปล่อยก๊าซมากกว่ากำหนด รวมทั้งการกำหนดให้แต่ละอุตสาหกรรมหรือ โครงการที่เข้าเกณฑ์ จะต้องจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซประจำปี และส่งให้หน่วยกำกับดูแล เพื่อจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไปสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นสินค้าที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างเข้มข้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขบวนการผลิตสูง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ เหล็ก และแบตเตอรีรถยนต์ เป็นต้น
 สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการตื่นตัวกันของภาคเอกชน โดยเมื่อเร็วๆนี้ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช President & CEO บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น ได้เปิดเผยว่า กลุ่มบางจากร่วมมือกับองค์กร และหน่วยงานต่าง จากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก จัดตั้ง Carbon Market Club ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งในรูปแบบองค์กร และบุคคล เพื่อเป็นการเตรียมตัวผู้ประกอบการ สำหรับอุปสรรค และโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ที่จะนำไปสู่สังคม Net Zero 
 ในส่วนของภาครัฐเองก็มีการตื่นตัวที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะว่าในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร หรือ COP26 ระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยจะต้องประกาศจุดยืนในการลดการปล่อยเรือนกระจก โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปีไหน  ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบาย (กบง) ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) มีเป้าหมายมุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2580 มีทิศทางนโยบาย (Policy Direction) 5 ด้าน  ผู้เขียนจะมาเล่าในรายละเอียดต่อไป



Read More

จากมาตรการ CDM ถึง BCA เพื่อลดโลกร้อน แต่เพิ่มอุปสรรคให้การค้าระหว่างประเทศ (ตอนที่ 1)

  • 14 ก.ค. 2564
  • 3267 view

  • กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ภายใต้ข้อตกลงพิธีสารโตเกียว

 

            การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming) นับว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงรูปใหม่ของโลก รวมทั้งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติในเชิงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ยังคงร้ายแรงขึ้นทุกวัน แม้ว่าในระยะที่ผ่านมาหลายประเทศได้พยายามสร้างความร่วมมือ และมีข้อตกลงเพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ระดับควบคุมได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมได้แก่ ความร่วมมือข้อตกลงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งได้ระบุให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วตามภาคผนวกที่ 1 มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปีฐาน ค.ศ. 1990 ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2012 ทั้งนี้ในพิธีสารเกียวโต อนุญาตให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ภาคผนวกที่ 1) สามารถใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ที่อนุญาตให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 สามารถดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศนอกกลุ่มภาคผนวกที่ 1 ได้  และนำมาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซในประเทศตนได้ ซึ่งคาดหวังว่า CDM จะเป็นกลไกที่ทำให้ต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำลงอยู่ระดับที่พอรับได้ และเป็นเครื่องมือในการส่งต่อ และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา

            อนึ่ง มาตรการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(CDM) ได้สิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ.2012 แต่ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงได้มีความพยายามที่จะดำเนินการเจรจาร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และการจัดสรรพันธกรณีระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจากแทนพิธีสารเกียวโตที่ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

 

  • มาตการการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Border Carbon Adjustment  : BCA)

 

            จากมาตรการ CDM ที่กล่าวมาแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1) ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกของตน ทำให้มีต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น และเริ่มตระหนักว่าอุตสาหกรรมของประเทศตนเองสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริการ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น เป็นต้น พยายามออกที่จะคิดค้นมามาตรการใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่ามาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Border Carbon Adjustment : BCA) ซึ่งเป็นมาตรการที่พยายายามจะลดความได้เปรียบของสินค้านำเข้าจากประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศของตน ทั้งนี้มาตรการอาจจะอยู่ในรูปแบบการเก็บภาษีนำเข้า หรือการบังคับใช้มาตรฐานการผลิตบางประการแก่ประเทศคู่ค้าได้ เช่น กำหนดให้ประเทศผู้ส่งออกต้องซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยความต้องการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขบวนการผลิตซึ่งตนเองปล่อยในอัตรามากกว่าประเทศที่นำเข้า

            อย่างไรก็ตาม ยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้ง ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศที่พัฒนาแล้วเห็นว่ามาตรการ BCA เป็นมาตรการที่ดี เป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีข้อกำหนดในการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าประเทศของตน รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการควบคุมปัญหาการั่วไหล หรือการย้ายฐานการผลิต (Carbon Leakage and Offshoring) และยังเป็นการบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ในทางตรงกันข้ามประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้มาตรการ BCA เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้เครื่องมือทางด้านสิ่งแวดล้อมมากีดกันทางการค้า และเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว มาให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยมองข้ามหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน (Common but Differentiated Responsibilities) ตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก

            อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พยายามเอามาตรการ BCA มาใช้ให้ได้ โดยในปี ค.ศ. 2009 ผู้แทนทางสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างกฎหมาย The American Clean Energy and Security Act.2009) โดยจะบังคับใช้ BCA กับสาขาการผลิตบางชนิด ซึ่งประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยด้วยย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงต่อมาตรการดังกล่าว




Read More

ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย

  • 30 มิ.ย. 2564
  • 2444 view

เดนมาร์ก เปิดโครงการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย 

เดนมาร์ก ถือเป็นประเทศที่ใช้พลังงานสะอาดสูงสุดเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจาก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส เนื่องด้วยรัฐบาลเดนมาร์กมีเป้าหมายจริงจังที่ต้องการเป็นประเทศที่ใช้พลังงานสะอาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 

ตัวเลขล่าสุดเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศเดนมาร์กที่มีมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากพลังงานหมุนเวียน และอีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้ามาจาก “พลังงานลม” หรือจาก “กังหันลม” ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของประเทศเดนมาร์ก ด้วยสภาพของภูมิประเทศที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลและมีลมพัดแรงตลอดทั้งปี บริบทนี้จึงเอื้อต่อการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม    

ข้อมูลเมื่อปี 2017 ระบุว่า ประเทศเดนมาร์ก มีกังหันลมปั่นไฟ รวมทั้งสิ้นถึง 14,777 ต้น โดยอยู่บนบก 9,597 ต้น และอยู่ในทะเล 5,180 ต้น  เดนมาร์ก จึงถือเป็นประเทศต้นแบบด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีรัฐบาลคอยผลักดันอย่างจริงจังต่อเนื่องมายาวนาน และเมื่อไม่นานมานี้ ประเทศเดนมาร์กเพิ่งมีพิธีเปิดโครงการ ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “Horn Rev 3” ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลตอนเหนือ ห่างจากชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะ Jutland เดนมาร์ก ประมาณ 25-40 กิโลเมตร โดยมีจำนวนกังหันลมทั้งสิ้น 49 ต้น สูง 187 เมตร ซึ่งน้ำหนักของกังหันลมรวมฐานหนักประมาณ 1,500 ตัน/ต้น และคาดว่าโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตได้ถึง 407 เมกะวัตต์ (MWh) ครอบคลุมการใช้ไฟฟ้าของประเทศเดนมาร์กประมาณ 425,000 ครัวเรือน/ปี 

โครงการนี้ ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดของประเทศให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์สำเร็จได้ภายในปี 2030 และจะช่วยเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมของประเทศได้มากขึ้นอีก 12 เปอร์เซ็นต์ และถือเป็นต้นแบบด้าน “พลังงานลมนอกชายฝั่ง”ในแถบยุโรป โดยโครงการนี้จะถูกนำเสนอในงาน Wind Europe 2019 ระหว่างวันที่ 26 - 28 พฤศจิกายนนี้ ณ เมืองโฮเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก 

......................................................
ข้อมูลบางส่วนจาก 
- เว็บไซต์ข่าว CNBC (www.cnbc.com) นำเสนอข่าวเศรษฐกิจ-การตลาดชั้นนำของประเทศอเมริกา 
- เว็บไซต์ REVE (www.evwind.es) แหล่งรวบรวมข้อมูลโครงการเกี่ยวกับพลังงานลมและพลังงานหมุนเวียนที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจจากทั่วโลก
- ไทยรัฐออนไลน์ (www.thairath.co.th)



Read More

Knowledges

  • 28 มิ.ย. 2564
  • 1687 view


Knowledges



Read More

ค้นหา

เดือนปี

  • มิถุนายน 2563(25)
  • กรกฎาคม 2563(12)

ข่าวล่าสุด

จากมาตรการ CDM ถึง BCA เพื่อลดโลกร้อน แต่เพิ่มอุปสรรคให้การค้าระหว่างประเทศ (ตอนจบ)

2021-07-29 00:00:00

จากมาตรการ CDM ถึง BCA เพื่อลดโลกร้อน แต่เพิ่มอุปสรรคให้การค้าระหว่างประเทศ (ตอนที่ 1)

2021-07-14 00:00:00

ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย

2021-06-30 00:00:00

Knowledges

2021-06-28 00:00:00




Facebook Group


Youtube Channel


Twitter

ERC FOCUS

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
โทร : 0 2207 3599 , โทรสาร : 0 2207 3506 , 0 2207 3502
Call Center : 1204
อีเมล์ : Energylearningcenter.erc@gmail.com

© Copyright ERC. All Rights Reserved