UGT ไฟฟ้าสีเขียวเสริมเขี้ยวเล็บให้ธุรกิจไทยแข่งขันในเวทีโลก

UTG ไฟฟ้าสีเขียวเสริมเขี้ยวเล็บให้ธุรกิจไทยแข่งขันในเวทีโลก
​หลายปีมานี้ หลายคนกลัว “ภาวะโลกร้อน” เพราะรู้แล้วว่าปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้เกิด “ภาวะโลกรวน” ไม่ว่าจะเหตุการณ์อุทกภัยร้ายแรง ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงต่อเนื่อง เกิดขึ้นและกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ภาวะโลกร้อน ภาวะรวนกลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว
ประชาคมโลกตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างมาก ภาวะโลกร้อนเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งตัวที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากกิจกรรมที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน จากภาคพลังงานซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการเป็นผู้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมากและสูงสุดของโลก โดยสัดส่วนของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนกว่าครึ่งเกิดจากกิจกรรมการใช้พลังงานฟอสซิลหมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหินที่นำไปผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ วันนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งทั่วโลกต่างได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ความตื่นตัวที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากภาวะโลกร้อน และภาวะโลกรวน ที่เป็นต้นเหตุของอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายๆพื้นที่ สร้างความเสียหาย การบาดเจ็บล้มตายของผู้คนจำนวนมาก ได้นำไปสู่ความพยายามในการประกาศตัวที่จะเลิกคบค้า และจะเลือกซื้อสินค้าหรือผลักดันบริษัทข้ามชาติของตัวเองให้เข้าไปลงทุนเฉพาะในประเทศที่มีความตั้งใจในการร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน โลกรวนเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันผ่านเวที COP หรือภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในการให้คำมั่นสัญญาของประเทศสมาชิกในการลดอุณหภูมิโลกด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 5-10 ปีต่อจากนี้ ตลอดจนนำมาซึ่งการพัฒนาและสร้างกลไกกึ่งบังคับผ่านการประกาศใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าและข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่นๆกับกลุ่มประเทศคู่ค้า พันธมิตรการลงทุนที่ไม่ให้ความสำคัญกับในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอน
แน่นอนว่าประเทศไทยในฐานะภาคีอนุสัญญา COP ก็ต้องอยู่ในข่ายที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและพันธกรณีต่างๆที่กล่าวมาทั้งสิ้น โดยเฉพาะการปรับตัวขนานใหญ่ในภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง
ในภาคการกำกับกิจการพลังงานก็เช่นกันต้องมีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ ที่วันนี้ภาคพลังงานทั่วโลกให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด และกระบวนการผลิตพลังงานโดยเฉพาะกิจการไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ทั้งยังเข้ามาเกี่ยวพันกับขีดความสามารถในการทำการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย ส่งผลต่อเนื่องไปยังขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศซึ่งพึ่งพิงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเป็นหลักโดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
UGT คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
​ถ้าหากได้ติดตามข่าวสารพลังงานอย่างต่อเนื่อง จะได้เห็นว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. มีโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ขยะอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก แถมยังถูกโจมตีว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองมีตั้งมากมายอยู่แล้วและทำให้หลายคนอยากรู้ว่าจะซื้อเพิ่มไปทำไมเอาไฟฟ้าไปทำอะไรตั้งมากมายก่ายกอง
จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือสำนักงาน กกพ. ที่ได้มาเล่า ที่มา ที่ไป ความจำเป็นของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซี่งเป็นแหล่งไฟฟ้าสำคัญในการผลิตไฟฟ้าสีเขียวให้กับประเทศด้วย
​นายคมกฤช กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับไฟฟ้าสีเขียวก่อน ไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) หรือ UGT คือไฟฟ้าที่ผลิตมาจากแหล่งที่ไม่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเพราะไม่มีการเผาไหม้ เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม จึงจำเป็นต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นที่มาของไฟฟ้าสีเขียว และการรับรองไฟฟ้าสีเขียวให้กับภาคธุรกิจ
CBAM กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน ป้องกันการนำสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐานเข้ามาใน EU
จากข้อมูลพบว่าการผลิตไฟฟ้าสีเขียวนี่แหละ เป็นส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เรียกร้องให้ทุกประเทศต้องมีไฟฟ้าสีเขียว โดยกำหนดเกณฑ์ผ่านมาตรการบังคับกลายๆ ให้โรงงานที่ผลิตสินค้าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เช่นเดียวกับกลุ่มโรงงานประเทศคู่ค้าของที่กลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU ก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน และกำลังจะบังคับใช้มาตรการการจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Boader Adjustment Mechanism) หรือ CBAM
Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อลดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการปรับปรุงสินค้าให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้านั้น และมีหลายประเทศที่มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการเช่นเดียวกันนี้ Green Tariff ของ กกพ. จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ทำความเข้าใจให้ง่ายคือเขาจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากความเข้มข้นของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ปลดปล่อยคาร์บอนมากก็จ่ายภาษีนำเข้าแพง นั่นหมายถึงหากประเทศใดใดรวมทั้งประเทศไทยด้วย หากต้องการส่งสินค้าไปขายกับกลุ่มประเทศคู่ค้าเหล่านี้ ถ้าไม่ลดหรืองดเว้นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยเฉพาะการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตก็จะเสียภาษีแพง เมื่อเสียภาษีแพงต้นทุนเพิ่มราคาสินค้าย่อมแพงตามไปด้วย และแข่งขันไม่ได้ในท้ายที่สุด
“เราต้องการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบให้มีมากขึ้น เพื่อให้เรามีพลังงานที่ปลดปล่อย CO2 ในปริมาณที่น้อย หากเรามีพลังงานที่ปล่อย CO2 น้อยกว่าต่างประเทศ ก็จะทำให้เราได้เปรียบ และป้องกันการถูกปรับภาษีคาร์บอนจากการส่งสินค้า”นายคมกฤช กล่าวถึงการรับมือมาตรการกีดกันทางการค้า และการลงทุนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ก็ทยอยประกาศขยายการลงทุนกับประเทศที่มีไฟฟ้าสีเขียวให้ใช้เท่านั้น จึงเป็นที่มาของการที่ กกพ. ได้ศึกษาเพื่อจัดทำและกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff UGT ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องใช้ไฟฟ้าสีเขียวในการผลิตสินค้า หรือต้องการขยายฐานการลงทุนมายังประเทศไทย
​“สมมติเราผลิตสินค้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ 10% ในประเทศ ทำการผลิตสินค้าและส่งไปยุโรปที่มีไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน 30% ซึ่งมากกว่า เราจะต้องถูกปรับภาษี แม้สินค้าจะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อปรับให้ค่า CO2 เท่ากัน ประเทศไทยมีพลังงานหมุนเวียนอยู่ในระบบ 10% ซึ่งได้มาจาก พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานน้ำ แต่ใน 10% ส่วนใหญ่มาจากชีวมวลแน่นอนว่ายังคงปลดปล่อยคาร์บอน จึงต้องมีการปรับระบบใหม่เพื่อให้การผลิตคาร์บอนน้อยลง”นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าว
กกพ. กำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว UTG เพื่อต่อยอดและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ให้เข้าถึงและใช้พลังงานสีเขียวได้ตามแนวทางสากล
​ด้วยเหตุผลความจำเป็นข้างต้น จึงได้นำมาสู่ที่มา ที่ไปของ “ไฟฟ้าสีเขียว” จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าไฟฟ้าสีเขียวต้องมีทีมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในกระบวนการผลิตฟ้าของไทยในปัจจุบันก็มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแม้จะมีการแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับเพียง 10% ของการผลิตโดยรวมเท่านั้น และส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตจากแหล่งพลังงานเดิม
นายคมกฤช​ กล่าวว่า จากที่ได้เคยพูดคุยกับภาคธุรกิจการค้าการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ก็ทำให้ได้ทราบว่าเป้าหมายแท้จริงที่เขาต้องการคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เพราะต้องการให้เกิดความสัมฤทธ์ผลในการที่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้เพิ่มขึ้นจริงในทางปฏิบัติ และสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นมาตรการกดดันเพิ่มเติมตามมา เพื่อให้ประเทศคู่ค่าต้องพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุที่กกพ.เร่งดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล่วงหน้าก่อนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เพิ่มปริมาณไฟฟ้าสีเขียว เสริมเขี้ยวเล็บผู้ประกอบการไทย
ก่อนหน้านี้ กกพ.ได้ประกาศโครงการจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบไม่มีต้นทุน แบบ FiT จำนวน 2 โครงการรวมกว่า 8,000 เมกะวัตต์ และสงวนสิทธิ์ในการรับรองที่มาไฟฟ้าสีเขียวไว้ที่ กกพ. เนื่องจากต้องการให้ประเทศมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่เพียงพอ และกกพ.สามารถเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับรองไฟฟ้าสีเขียว หรือ REC
ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการและสร้างความคล่องตัวให้กับภาคอุตสาหกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศของไทย ที่มีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวม สอดรับกับมาตรการรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าการลงทุนอันเนื่องมาจากความต้องการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งน่าจะเป็นคนละประเด็นกับปริมาณความต้องการและการสำรองไฟฟ้า แต่นั่นเพราะว่าประเทศไทยไม่มีไฟฟ้าสีเขียวเพียงพอกับความต้องการของกองทัพนักธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้ต่างหาก
อีกไม่นานเกินรอน่าจะประมาณกลางปีนี้ ที่ภาคอุตสาหกรรมการค้าจะได้มีไฟฟ้าสีเขียวที่เป็นเหมือนอาวุธที่สำคัญในการไปต่อสู้สงครามทางการค้าการลงทุนที่นับวันจะเข้มข้นเรื่องภาวะโลกร้อน ภาวะโลกรวนมากขึ้นทุกที และคนไทยจะได้ภูมิใจด้วยว่าเราเองได้มีส่วนร่วมลดวิกฤตการณ์สภาวะภูมิอากาศให้กับโลกด้วย