ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (1)


ในที่สุดประเด็นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ได้ประกาศไปเมื่อปลายปีที่แล้ว (28 ธ.ค. 2565) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยตรึงราคาไว้ที่เดิมเท่างวดเก่า 4.72 บาท/หน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นได้แก่ กิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงแรม กิจการไม่แสวงหากำไร กิจการการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม การค้า และการเกษตร ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.33 บาท/หน่วย ซึ่งลดจากเดิมที่ 5.69 บาท/หน่วย จำนวน 0.36 บาท/หน่วย สาเหตุที่สามารถลดค่าค่าเอฟที ได้ 0.33 บาท/หน่วย มาจากการทบทวนประมาณการราคาก๊าชธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซลและอัตราแลกเปลี่ยน โดยปรับราคา Pool Gas ลงจาก 493 บาท/ล้านบีทียู เหลือ 466 บาท/ล้านบีทียู ราคา Spot LNG ลดจาก 31.577 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู เหลือ 29.60 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู อัตราแลกเปลี่ยนจาก 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 35.68 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และภาระหนี้สะสมจากการเรียกเก็บจากค่าเอฟทีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงจาก 33.33 สตางค์/หน่วย เหลือ 22.22 สตางค์/หน่วย

แม้ทาง กกพ.ได้มีการปรับค่าเอฟทีลง 0.36 บาท/หน่วยแล้วก็ตาม แต่ทางภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสมาคมธนาคารไทย และองค์กรภาคเอกชน 133 องค์กร อาทิ สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และเครือข่ายต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องค่าไฟแพง เพราะพลังงานเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า ในปี 2566 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นอุปสรรคในการลงทุน และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างแน่นอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการหารือกับองค์กรดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2565 และเห็นชอบให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยกล่าวว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อแก้ไขปัญหาภายในเดือน ก.พ.2566

กกร. ได้ศึกษาค่าไฟฟ้าของไทย แล้วพบว่า “มาจากการที่ประเทศไทยพึ่งพาก๊าชธรรมชาติ และก๊าชธรรมชาติเหลวนำเข้า (LNG) ในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป รวมทั้งขาดแผนการรสำรองที่ดีในการบริหารก๊าชธรรมชาติในอ่าวไทยที่กำลังลดลง ทำให้ประเทศต้องแบกภาระต้นทุนนำเข้า Spot LNG มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับระบบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลที่ใช้เป็นแบบ Cost Plus ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกภาระความเสี่ยงด้านต้นทุนที่สูงขึ้นแทนโรงไฟฟ้า และการที่ประเทศไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินความต้องการไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 50 ทำให้เกิดภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าไม่เต็มกำลังการผลิต นอกจากนี้ยังขาดกลไกตลาดเสรี และระบบการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตไฟฟ้า (Third Party Access) ส่งผลให้ธุรกิจไฟฟ้าไม่สามารถเกิดการแข่งขันด้านราคาได้ และไม่สามารถออกจากการเป็นตลาดที่มีผู้ขายน้อยรายได้ ( Oligopoly Market)”

ในขณะเดียวกัน กลุ่มวิศวกรรมไฟฟ้า กพฝ.และกลุ่มองค์กรเอกชน 133 องค์กร ได้ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ระบุว่าค่าไฟฟ้าแพง กล่าวโดยสรุปว่ามีสาเหตุ และปัจจัยต่างๆดังนี้

การวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าผิดพลาดมาตลอด โดยคำนึงถึงความมั่นคงมากเกินความจำเป็นและเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานบางกลุ่มเกินสมควร จนการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตเกือบถึงร้อยละ 70 และมีสำรองเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่การปริมาณสำรองไฟฟ้าสามารถรองรับมั่นคงด้านพลังงานของประเทศควรกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 15

ค่าไฟฟ้าแพงเพราะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตล้นเกินความต้องการ ไม่ต้องเดินเครื่องแต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า”
ค่าไฟฟ้าแพงเพราะการที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ประสิทธิภาพลดลง
ค่าไฟฟ้าแพงเพราะพลังงานภาคไฟฟ้าไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทยที่มีราคาดีที่สุด เมื่อเทียบกับราคาก๊าซจากแหล่งอื่นๆ แต่ต้องใช้ราคา Pool ซึ่งเป็นราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแแยกก๊าซ การนำเข้าก๊าซจากพม่า และการนำเข้า LNG จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงขึ้นโดยตลอด
ในตอนนี้ผู้เขียนรวบรวมข้อเสนอ มุมมอง และสาเหตุเกี่ยวกับค่าไฟแพง โดยพอสรุปได้ว่ามาจาก 2 สาเหตุหลักคือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ และส่วนหนึ่งอาจจะมาปัญหาเชิงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบผู้ซื้อรายเดียว ( Enhanced Single Buyer : ESB) เป็นระบบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการแข่งขัน ในตอนหน้าจะขอนำเสนอมุมมองของผู้เขียนพร้อมกับรายละเอียดว่าผู้เขียนมองปัญหาค่าไฟแพงอย่างไร